ภาคพลังงานสำคัญกับโลกเย็นอย่างไร
เนื่องจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นภาคการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังงานที่ใช้กันอยู่ส่วนใหญ่ในโลกยังมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งเป็นตัวการหลักของภาวะโลกร้อน ในขณะที่การได้มาซึ่งพลังงานเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสร้างความขัดแย้งในชุมชนท้องถิ่นหลายพื้นที่ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองภาคการผลิตนี้อย่างมากโดยเฉพาะในแง่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ จะต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่แหล่งกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และกิจกรรมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนขณะนี้คือ “การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่พึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่สังคมที่ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” ในขณะเดียวกัน ทางเลือกพลังงานที่เป็นธรรมจะต้องคำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรอบด้าน และไม่เอาข้ออ้าง "คาร์บอนต่ำ" มาใช้เลือกพลังงานที่ไม่ยั่งยืนและอันตราย เช่น พลังงานนิวเคลียร์ เขื่อนขนาดใหญ่ พลังงานจากขยะ และถ่านหิน(ซึ่งตั้งชื่อใหม่ว่าถ่านหินสะอาด) เพราะพลังงานเหล่านี้มีต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์สูงมาก
รูปธรรมทางเลือกพลังงานไทยเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
สำหรับประเทศไทยซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 27 ของโลก มีภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือประมาณ 70% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ รองลงมาคือภาคเกษตร และภาคกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมตามลำดับ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในภาคพลังงาน จะพบว่าเกือบครึ่ง (42%) มาจากการผลิตไฟฟ้าซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก รองลงมาคือการปล่อยก๊าซจากภาคพลังงานมาจากการใช้พลังงานในภาคขนส่ง (ซึ่งใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) และการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับภาคพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนและคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรมได้มีข้อเสนอเพื่อเร่งแก้ปัญหาโลกร้อนระดับนโยบายในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรม มีใจความสำคัญคือ
หยุดการพัฒนากลไกตลาดเพื่อการชดเชยคาร์บอนและการค้าคาร์บอน แต่กลับมาให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิดโดยการเลิกใช้พลังงานฟอสซิล ปฏิรูปให้มีการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างเท่าเทียมในสังคม และส่งเสริมการวางแผนและกระจายการผลิตไฟฟ้าระดับชุมชนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ต้องควบคุมและหยุดขยายอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ซึ่งก่อมลพิษรวมทั้งก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหมืองแร่ เป็นต้น พร้อมทั้งต้องหยุดโครงการพัฒนาใดๆ ที่จะทำลายป่าไม้และฐานทรัพยากรซึ่งเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้า คือการรื้อแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งกำหนดประเภทเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยจัดทำแผน PDP ใหม่ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมทั้งเสนอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อนขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บรรจุอยู่ในแผนฯปัจจุบัน เพื่อเปิดทางเลือกให้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อื่นๆ พร้อมทั้งต้องกำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวหน้าบนพื้นฐานศักยภาพที่แท้จริงของแหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) โดยให้นำนโยบายของรัฐที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ "แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554-2573)" และ "แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ภายใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564)" มาผนวกให้สอดคล้องกับการวางแผน PDP