การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนคือการแก้ที่ต้นตอของปัญหา เมื่อก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์เป็นตัวก่อโลกร้อน ก็ต้องลดการปล่อยก๊าซฯ แต่เนื่องจากในอดีตแต่ละประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการพัฒนาประเทศของตนไม่เท่ากัน ก็ควรจะมีความรับผิดชอบมาก-น้อยต่างกันไปด้วย นั่นคือที่มาของหลักการ "ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง" (CBDR: Common but Differentialted Responsibilities) กล่าวคือ ใครที่เคยปล่อยมามากแล้วก็มีหน้าที่ต้องลดการปล่อยในอนาคตมากขึ้น ในขณะที่ใครที่เคยปล่อยมาน้อยก็ต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ปล่อยเกินจำเป็นและพยายามลดลงด้วย หลักการนี้เป็นที่ยอมรับภายใต้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยมีพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นสัญญาหลักที่บังคับให้ประเทศพัฒนาแล้ว (ประเทศภาคผนวกที่ 1 ที่ร่วมลงนามในพิธีสาร) ต้องลดการปล่อยก๊าซฯ ในปริมาณที่ตกลงกันไว้
แนวคิด "การชดเชยการปล่อยก๊าซฯ" (Offsetting) หรือ "การค้าคาร์บอน" (carbon trading) คือการให้ผู้ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซฯ สามารถให้คนอื่นลดแทนให้ได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาสร้างเป็นกลไกภายใต้พิธีสารเกียวโต ใช้ชื่อว่า "กลไกการพัฒนาที่สะอาด" หรือ ซีดีเอ็ม (CDM: Clean Development Mechanism) เพื่อช่วยประเทศพัฒนาแล้วที่โดนบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซแต่อ้างว่าต้นทุนการลดในประเทศตัวเองสูงเกินไป จ้างให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซฯ แทน โดยอ้างว่าต้นทุนในประเทศเหล่านั้นถูกกว่าและเป็นการให้เงินช่วยเหลือประเทศยากจนได้สร้างโครงการต่างๆ ในคราวเดียวกัน โดยมีกลไกตลาดที่เรียว่า "ตลาดคาร์บอน" เป็นแรงผลักดันสำคัญสร้างมูลค่าของคาร์บอนที่จะนำมาชดเชยกันนี้ด้วยการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" (carbon credit)
ค้าคาร์บอน - ซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนและความไม่เป็นธรรม
แนวคิดการค้าคาร์บอนนี้ถูกโฆษณาทั่วโลกให้เป็นประหนึ่งเลือกที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อหยุดโลกร้อน... แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนได้จริง และยังสร้างปัญหาเพิ่มด้วย กล่าวคือ เราต้องเข้าใจว่ากลไกดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซฯ โดยรวมของโลก แต่สร้างขึ้นมาเป็นตัวช่วยให้ต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซฯ ต่ำลงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง การสามารถซื้อเครดิตจากคนอื่นโดยไม่ต้องลดเอง ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซที่ก้าวหน้าหรือเข้มข้นเท่าที่ควร ทั้งยังเป็นการต่ออายุให้กับอุตสาหกรรมที่ก่อโลกร้อนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งควรหยุดและจำกัดการปล่อยก๊าซฯ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เพราะสามารถทำกำไรมหาศาล จึงใช้เงินซื้อคาร์บอนเครดิตราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการบริโภคที่ล้นเกินต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาที่ขายคาร์บอนเครดิต เป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วและมีความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ด้วย แต่อ้างว่าจะไม่เกิดหากไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากกลไกตลาด จึงเท่ากับว่าไม่ได้มีการลดการปล่อยคาร์บอนจริงทั้งในประเทศที่ซื้อและขายคาร์บอน หมายความว่าการซื้อ-ขายคาร์บอนนั้นไม่มีส่วนในการลดโลกร้อนแต่อย่างใด
ปัญหาที่สำคัญอีกประการเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ คือ โครงการจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอ้างว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขายคาร์บอนเครดิต แต่ความเป็นจริงกลับก่อมลพิษอื่นและสร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนท้องถิ่น โดยอาศัยความบกพร่องในการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับกลไกการซื้อ-ขายคาร์บอน เพราะโครงการเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกลไกดังกล่าว
การชดเชยการปล่อยก๊าซฯ และกลไกตลาด จึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาโลกร้อน แต่เป็นการประวิงเวลาและลดต้นทุนให้กับผู้ที่มีหน้าที่ต้องลดการปล่อยฯ ทั้งยังก่อปัญหาซ้ำเติมสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย