โลกร้อนกระทบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร
ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกทวีปทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว (extream weather events) และภาวะโลกร้อนจะทำให้สภาพดังกล่าวเกิดบ่อยขึ้น สาหัสขึ้น และคาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงที่สุดคือในเขตร้อน/ใกล้เขตร้อน (tropics/subtropics) ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ของโลกที่ตั้งอยู่ในเขตเหล่านั้นจึงมีความอ่อนไหว (vulnerability) ต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยมีภาค "เกษตรกรรม" เป็นภาคการผลิตที่อ่อนไหวมาก เนื่องเพราะทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น สภาวะแล้งและการขาดแคลนน้ำที่จะเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศที่แปรปรวนนั้นเป็นปัจจัยซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรรายย่อยและชาวประมงชายฝั่งพื้นบ้าน ซึ่งมีวิถีการผลิตที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมาก
ที่สำคัญ ผลกระทบจากโลกร้อนต่อระบบเกษตรไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึงทุกคนบนโลกรวมทั้งคนเมืองด้วย เนื่องจากเกษตรกรรมคือระบบผลิตอาหารให้กับมนุษย์ หากระบบเกษตรล่มสลาย นั่นหมายถึงการสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของสังคมมนุษย์ด้วย
วิกฤตอาหาร - คนจนอดตาย
วิกฤตสภาพอกาศในปี 2555 ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นภาพปัญหานี้ชัดเจนขึ้น เพราะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วทุกทวีปกระทบต่อประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และอเมริกาใต้ ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นจนเกือบจะเท่าวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2553 ซึ่งในครั้งนั้นเป็นเหตุให้เกิดจลาจลในกว่า 12 ประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกมาเตือนว่าราคาอาหารของโลกไม่มีทีท่าว่าจะลดลงและคาดการณ์ว่าราคาธัญพืชอาหารหลักของประชากรโลกได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่า 1 ถึง 2 เท่าตัวภายในปี 2573 โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยถึง 1/3 หรือครึ่งหนึ่ง และปัจจัยอื่นๆ เช่นการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่มีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการอาหารของโลกเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อุปทานลดลงส่งผลให้ราคาอาหารโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ พบว่าผลกระทบจากวิกฤตราคาอาหารนั้นรุนแรงมากขึ้นในประเทศที่นำเข้าธัญญพืชและอาหารเป็นส่วนใหญ่โดยที่ไม่สามารถพึ่งพาการผลิตในประเทศได้ เพราะราคาอาหารจะผันผวนตามราคาโลก
ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตนี้คือคนจนในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากค่าใช้จ่ายกว่า 75% ของรายได้ที่น้อยอยู่แล้วหมดไปกับการซื้ออาหาร ดังนั้นการที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียวจะทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เป็นปัญหาถึงปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัว
อุตสาหกรรมเกษตรเคมีซ้ำเติมโลก?
ภาคเกษตรไม่ใช่ภาคที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนเพียงอย่างเดียวแต่ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยเฉพาะ "ก๊าซมีเธน" ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ตามธรรมชาติของแบคทีเรียบางชนิดในสภาวะไม่มีอากาศ (เช่น นาข้าวแบบน้ำขัง การย่อยอาหารของสัตว์) และ "ก๊าซไนตรัสออกไซด์" ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติในดินและมูลสัตว์ กระบวนการหายใจของพืชปล่อย "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" แต่ก็มีการดูดกลับไปใช้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง ทั้งนี้ การไถพรวนเปิดหน้าดินหรือการหักร้างถางพงพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรปัจจุบันอยู่ที่ระบบเกษตรอุตสาหกรรมเคมีที่เน้นการผลิตเชิงปริมาณและใช้ปัจจัยเพื่อเร่งผลผลิตอย่างเข้มข้นซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรเพิ่มการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ และปศุสัตว์อุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเธนจำนวนมาก นอกจากนี้การใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม (เพื่อผลิตปุ๋ยและสารเคมี เพื่อขนส่ง) ในกิจกรรมการเกษตรอย่างเข้มข้นก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น นอกจากจะเป็นต้นตอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลแล้ว ระบบเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งใช้เคมีเข้มข้นยังขูดรีดทรัพยากร เช่นความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน ทรัพยาการน้ำ ในขณะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคนรวมถึงผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลเชิงลบต่อความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรเพราะต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกเป็นส่วนมาก ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ จึงทำให้เกษตรกรปรับตัวได้ช้าเมื่อต้องเผชิญภาวะภัยพิบัติ
เนื่องจากกระบวนการผลิตทางการเกษตรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของคนชนบท ทั้งการทำเกษตรในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประชากรจำนวนมากมีอาชีพในภาคเกษตรแต่โดนกล่าวหาว่าเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ป้อนปากท้องของคนทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่การผลิตทางการเกษตร/อาหารน้อยลง ดังนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรจึงเป็นเรื่องซับซ้อนที่ควรพิจารณาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามีต้นตอที่แท้จริงมาจากอะไร วิถีเกษตรอย่างไรที่จำเป็น หรืออย่างไรที่เกินจำเป็นไม่ยั่งยืน และควรปรับเปลี่ยนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตอื่น และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น
เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยพิบัติที่จะเกิดเพิ่มขึ้นการภาวะโลก้รอนนั้นยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรและเมื่อไหร่เพราะเป็นเรื่องผลกระทบระยะยาวซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง การจะให้ภาคเกษตรสามารถตั้งรับและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนจึงต้องมีการเตรียมพร้ออย่างเป็นระบบ เพื่อให้คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากคาดการณ์ได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ ทั้งระบบเกษตรกรรมของแต่ละท้องถิ่นยังมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยทางกายภาพ สังคม และวัฒนธรรม การให้เกษตรกรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เป็นสำคัญ ดังนั้นรัฐต้องสนับสนุนและสร้างกลไกการตั้งรับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงทีให้กับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ชุมชนประมงพื้นบ้านขนาดเล็กและเกษตรกรรายย่อย โดยคำนึงถึงศักยภาพ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนและสังคม ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและการสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อเตรียมรับมือและปรับตัวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เกษตรกรรมผลิตอาหารเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
มีการศึกษาอย่างกว้างขวางว่าเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรอุตสาหกรรมเคมี เช่นในสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์พบว่าฟารม์เกษตรอินทรีย์ใช้พลังงานเพียง 30-60% ของฟาร์มเกษตรเคมี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซฯจากการใช้พลังงาน สำหรับประเทศไทย มีการประเมินเบื้องต้นของมูลนิธิสายใยแผ่นดินว่า แค่การเลิกใช้ปุ๋ยเคมีในการทำเกษตรอินทรีย์ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 243.9 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ยังลดการเกิดก๊าซมีเธนด้วยการส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ที่ใช้อากาศในการย่อยสลายฯ เปลี่ยนอาหารสัตว์ หลีกเลี่ยงการเผาอินทรีย์วัตถุ ฯลฯ และลดการเกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ เนื่องจากไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งเป็นปุ๋ยเคมี ปรับโครงสร้างดินด้วยอินทรีย์วัตถุ ลดการสะสมของไนโตรเจนในดินเกินจำเป็นและลดการเกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น อีกทั้งการลดการไถพรวนและการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ยังช่วยเพิ่มความสามารถของดินในการตรึงและเก็บกักคาร์บอนตามธรรมชาติ และช่วยรักษาหน้าดินอีกด้วย นอกจากนี้ ระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้ออิงกับระบบนิเวศน์ของแต่ละท้องถิ่น โดยเน้นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ การรักษาและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ยังช่วยรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของสังคม
ภาคเกษตรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขณะเดียวกันก็เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้ โดยที่รัฐควรส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของประเทศไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒณธรรมของชุมชนบนพื้นฐานทรัพยากรและสภาพที่เหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อการผลิตอาหารที่ดี ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์/สัตว์พื้นบ้าน เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ผลิตอาหารไม่ให้ถูกคุกคามโดยอุตสาหกรรมและการปลูกพืชพลังงาน
-->