"ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้อย่างไร
กิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน(Global warming)
ภาวะเรือนกระจกคืออะไร
ภาวะเรือนกระจก คือ ภาวะที่ชั้นบรรยากาศของโลกกระทำตัวเสมือนกระจก ที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านลงมายังพื้นผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ จากนั้นก็จะคายพลังงานความร้อนให้กระจายอยู่ภายในบรรยากาศจึงเปรียบเสมือนกระจกที่ปกคลุมผิวโลกให้มีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิ และเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลก
ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากอะไร
ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
▸ คาร์บอนไดออกไซด์ CO2 (อายุในชั้นบรรยากาศ 50-200 ปี) >> การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล และการทำลายป่า (โดยเฉพาะในเขตร้อน)
▸ มีเทน CH4 (อายุในชั้นบรรยากาศ 12 ปี) >> การหมักหมมของซากพืชซากสัตว์ การย่อยสลายในกระเพาะและลำไส้ของปศุสัตว์และการจัดการเกี่ยวกับมูลปศุสัตว์ การทำนาข้าว การใช้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการปล่อยแก๊สจากหลุมฝังกลบขยะ บ่อเกรอะหรือบ่อบำบัดสิ่งโสโครก การสูญเสียแก๊สและน้ำมันจากท่อส่ง การปล่อยมีเธนจากการขุดเจาะน้ำมันก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน
▸ ไนตรัสออกไซด์ N2O (อายุในชั้นบรรยากาศ 114 ปี) >> ปุ๋ยเคมีที่มีส่วนผสมของไนเตรทและ กิจกรรมอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและขยะ
▸ Hydrofluorocarbons (HFCs), Perfluorocarbons (PFCs), and Sulfur Hexafluoride (SF6) >> ใช้ในกิจกรรมอุตสาหกรรม มีความสามารถก่อปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจกสูง
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
อัตราส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยโดยประมาณ
ภาคพลังงาน 70%
ภาคเกษตร 23%
กระบวนการอุตสาหกรรม 7%
ขยะและของเสีย 4%