ภาคเกษตรกับการรับมือโลกร้อน:
บทสังเคราะห์เชิงประเมินศักยภาพนโยบายและแผนยุทธศาสตร์รัฐไทย
นันทิยา ตั้งวิสุทธิจิต
28 สิงหาคม 2555
ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติที่ยากจะคาดการณ์ให้แม่นยำว่าอะไรจะเกิดที่ไหนอย่างไรและเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตระยะยาวซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ดังที่มีผู้กล่าวไว้ในหลายที่ว่าวงจรภูมิอากาศในอดีตอาจจะไม่สามารถบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกต่อไป ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การเตรียมพร้อมอย่างเป็นระบบเพื่อให้ประเทศสามารถรับมืออย่างเป็นองค์รวมและมีพลวัตปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่นอกเหนือการคาดการณ์ เพื่อเตรียมภาคส่วนต่างๆของสังคมให้ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นเช่นเดียวกับหลายในประเทศ หน่วยงานของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยเฉพาะภาคเกษตรจึงเริ่มมีการจัดทำแผนโดยใช้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจของการผลิตอาหารและการส่งออกของไทย แต่กลับเป็นภาคการผลิตที่มีความอ่อนไหวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศมากที่สุดภาคหนึ่ง
อย่างไรก็ดีสมควรจะกล่าวในที่นี้ด้วยว่าภูมิอากาศไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาเกษตร กลไกราคา นโยบายแทรกแซงและประกันราคาต่างๆของภาครัฐ การเข้าถึงเงินทุน สถานการณ์แมลงและโรคระบาด ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่กำหนดผลผลิตทางการเกษตรของประเทศที่จะยังคงมีความสำคัญต่อไป ดังนั้นสภาวะโลกร้อนจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและภาคเกษตรในอนาคต
ในบทสังเคราะห์กึ่งวิเคราะห์นโยบายด้านการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศชิ้นนี้ ส่วนแรกเป็นการทบทวนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศสำคัญๆ โดยเน้นไปที่ภาคการเกษตร ส่วนที่สองจะเป็นการประเมินโดยสังเขปถึงทิศทางและประสิทธิภาพของมาตรการที่ปรากฏในนโยบายและแผนเหล่านั้นว่าจะสามารถเกื้อหนุนภาคเกษตรไทยให้รับมือกับสถานการณ์โลกร้อนได้มากน้อยเพียงไร ส่วนสุดท้ายเป็นการเสนอแนวทางที่ชุมชนอาจจะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการปรับตัวรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของตนเองและของประเทศในอนาคต
1. การทบทวนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเน้นภาคเกษตร
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ทำให้โลกตื่นตัวเตรียมมาตรการรับมือผลกระทบหลากหลายด้านที่จะตามมา แรงกระเพื่อมนี้ได้ส่งผลให้หน่วยงานนโยบายต่างๆของไทยเริ่มผนวกปัจจัยดังกล่าวในระดับวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ ในเบื้องต้นมีแผนสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรที่รวบรวมมาได้ดังนี้
• (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 11 2555-2559
• แผนบรรเทาโลกร้อนด้านการเกษตร 2551-2554
• (ร่าง) ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกษตรปี 2556-2559
• แผนปฏิบัติราชการสี่ปี 2555-2558 กระทรวงเกษตรฯ
• แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11
• แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2555–2593
• รายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 เสนอต่อ UNFCCC 2553
นอกจากนี้ยังได้ทบทวนกรอบแนวคิดจากรายงาน “การสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเสี่ยงในอนาคต” ภายใต้ “โครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก การผันผวนของราคาพลังงานและวิกฤตอาหารของโลก” (2553) โดยศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสนอแนวคิดสำคัญคือการมองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศควบคู่กับเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมในมิติอนาคตระยะยาว รวมถึงชี้ความจำเป็นของการมองภาคเกษตรเกี่ยวโยงกับภาคการผลิตและการพัฒนาด้านอื่นๆของสังคม
โดยภาพรวมนโยบายและแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเกษตรของประเทศที่กล่าวมาในข้างต้นได้กำหนดทิศทางภายใต้การวิเคราะห์สถานการณ์คุกคามภาคเกษตรที่มาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหลักๆ ดังนี้คือ
• การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปริมาณและการกระจายตัวของน้ำฝน (ซึ่งในแต่ละแผนมีการระบุถึงสถานการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำฝนทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงขึ้นกับแบบจำลองการคาดการณ์ที่แผนการนั้นอ้างอิง) ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงฤดูกาลต่างๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องผลผลิต การระบาดของโรคพืชและแมลง รวมถึงการอาจส่งผลถึงภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นตลอดจนภัยพิบัติต่างๆ
• ความต้องการพืชพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อความมั่นคงทางอาหาร
• ขีดจำกัดในด้านความสามารถการปรับตัวของภาคการเกษตรไทย ซึ่งที่ผ่านมาถูกทำให้อ่อนแอจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมหลายด้าน เช่น การเป็นสังคมเกษตรสูงอายุ ภาวะหนี้สินและสถานการณ์กดดันจากตลาดโลกต่างๆ
• ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคเกษตร มีการกล่าวถึงสัดส่วนการปล่อยก๊าซที่มากเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงานที่อาจส่งผลถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเพื่อลดก๊าซในอนาคต (จากรายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 เสนอต่อ UNFCCC ไทยมีการปล่อยจากภาคพลังงานประมาณร้อยละ 70 และจากการเกษตรประมาณร้อยละ 23)
ในด้านมาตรการรับมือหรือแก้ปัญหาเกือบทุกนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ได้วางเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ โดยเน้นหลักการเช่นเดียวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ถึงการนำสู่การปฏิบัติ) ในทศวรรษที่ผ่านๆมา เช่นการรักษาทรัพยากรป่าไม้ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจสีเขียวเน้นความสมดุลด้านต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันในตลาดโลก ส่วนแผนปฏิบัติและแผนงบประมาณได้ระบุถึงการรับมือแบบ เฉพาะกิจและแยกส่วนตามฐานวิธีคิดที่เคยเป็นมา เช่นการส่งเสริมการกลบตอซัง ลดการเผาในที่โล่ง การเปลี่ยนไปในปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การจัดการของเสียจากปศุสัตว์และการปลูกไม้ยืนต้น การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยและเพิ่มดูดซับก๊าซเรือนกระจกตามความเข้าใจของผู้วางนโยบายและแผน และให้ความสำคัญกับใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อการปรับตัว เช่น การส่งเสริมการวิจัยพันธุ์พืชหรือพืชตัดแต่งพันธุกรรมที่ทนสภาวะภูมิอากาศต่างๆ การพัฒนาแหล่งน้ำรวมถึงปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขภาวะฝนแล้งหรือไม่ตกตามฤดูกาล ตลอดจนการสร้างระบบสื่อสารเตือนภัยน้ำแล้งน้ำท่วมรวมถึงภัยพิบัติที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
2. การประเมินนโยบายและแผนโดยสังเขป
จากการประมวลแผนข้างต้นจะเห็นว่าการรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในด้านการเกษตรยังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับหน่วยงานรัฐ ดังจะเห็นได้จากข้อจำกัดในเชิงวิธีคิดที่สะท้อนจากนโยบายและแผนตามที่สังเกตได้ดังนี้
• การขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือในการคาดการณ์แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เช่นการคาดหวังถึงความถูกต้องแม่นยำของแบบจำลอง หรือการใช้ผลจากแบบจำลองใดแบบจำลองหนึ่งมากำหนดทิศทางการวางแผนรับมือ โดยที่ในความเป็นจริงแบบจำลองไม่ใช่การพยากรณ์ภูมิอากาศ เป็นเพียงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่าต้องทำหลายๆแบบจำลองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีพลวัตและแสดงแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นแอฟริกามีถึง 70-80 แบบจำลองและมีการทำเพิ่มอย่างต่อเนื่องเมื่อมีความรู้ใหม่ ในขณะที่ของไทยเท่าที่มีการอ้างถึงโดยทั่วไปมีเพียง 2-3 แบบจำลองเท่านั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาการขาดความเข้าใจในความสำคัญของหลักการดังกล่าวของหน่วยงานรัฐจึงทำให้สถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องขาดงบประมาณสนับสนุนในการทำแบบจำลองใหม่ๆ
• หลายมาตรการในแผนมาจากการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบาง แบบเส้นตรง (Linear thinking) คือใช้แบบจำลองคาดการณ์ภูมิอากาศที่ระบุถึงการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วดูว่ามีพื้นที่/ชุมชน/ภาคการผลิตใดบ้าง ณ วันนี้ที่มีความเปราะบาง ทำให้อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ แล้ววางมาตรการรับมืออย่างใดอย่างหนึ่งตามแนวทางที่เคยปฏิบัติมา ยกตัวอย่าง เช่น (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) ระบุถึงปัจจัยเสี่ยงทางภูมิอากาศว่า
“ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น โดยจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง (ประมาณ ๕ - ๑๐ เปอร์เซ็นต์) จะส่งผลต่อผลผลิตด้านการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่ต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนและแสงแดดที่แน่นอน รวมถึงความชื้นของดิน และอุณหภูมิเฉลี่ยที่พอเหมาะด้วย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลของที่ราบลุ่มภาคกลางช้าลง รวมถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแม่น้ำจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี เช่น แม่น้ำสายเล็ก ๆ ทะเลสาบ และห้วยหนองคลองบึง อาจแห้งขอดลงในบางฤดูกาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ซึ่งจะทำให้จำนวนและความหลากหลายของชนิดของสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างมาก” (p. ๑-๔๕ และ ๑-๔๖)
จากสมมุติฐานดังกล่าวแผนวางมาตรการหลักๆในการรับมือคือปรับปรุงคิดค้นพันธุ์ข้าวและพันธุ์สัตว์น้ำใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำมาให้เกษตรกรใช้เพื่อจัดการกับผลกระทบของสถานการณ์ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
กรอบวิธีคิดในการวางแผนข้างต้นอาจทำให้แผนมีข้อจำกัดหลายด้าน นอกเหนือจากปัญหาจากการใช้การคาดการณ์จากแบบจำลองแบบใดแบบเดียวดังที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ในความเป็นจริงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่และบริบทแวดล้อมของพื้นที่หรือภาคการผลิต และยังเป็นเรื่องที่มีมิติการเปลี่ยนแปลงอื่นๆในอนาคตระยะยาวที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สมมุติว่าพื้นที่อำเภอเชียงคานมีปริมาณฝนลดลงตามคาดการณ์จริง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอาจพาตัดสินใจเลิกปลูกข้าวในช่วง ๕ - ๑๐ ปีข้างหน้าแล้วลงทุนกู้ยืมจากธนาคารที่มีนโยบายสนับสนุนการขยายธุรกิจท่องเที่ยวเปลี่ยนที่ดินเกษตรริมน้ำโขงเพื่อทำรีสอร์ทหรือร้านอาหารเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้นเพราะอุปสรรคเรื่องฝนลดลง ข้าวพันธุ์ทนแล้งที่ปรับปรุงมาใหม่จึงอาจไม่มีประโยชน์ตามที่ตั้งใจไว้ในแผน ทำให้เห็นว่าการใช้กับการคาดการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวตั้งทำให้แผนขาดพลวัตและอาจจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้หากสถานการณ์ที่เกิดในอนาคตจริงต่างไปจากการคาดการณ์ที่ตั้งไว้ในแผน
• มาตรการรับมือที่ปรากฏในนโยบายและแผนเหล่านี้ มาจากการแบบคิดแยกส่วนภายใต้กรอบคิดและวิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ เช่นพันธุ์พืชที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช้ไม่ได้ก็หาพันธุ์พืชใหม่ ขาดน้ำก็หาน้ำเพิ่ม น้ำท่วมก็เตือนภัยและชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้วไม่ว่าจะเกิดสภาวะโลกร้อนหรือไม่
• การขาดความรู้ความเข้าใจในหลากหลายมิติของการปรับตัว (adaptation) ทำให้หลายส่วนของแผนมีเพียงมิติการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าจะเป็นแผนปรับตัวรับสถานการณ์โลกร้อนอย่างรอบด้าน ซึ่งต้องคำนึงถึงมิติของ “ความสามารถ ทักษะและทรัพยากรที่มีในชุมชน สังคม และองค์กรต่าง ๆ ซึ่งสามารถพัฒนาเพื่อใช้เตรียมการในการป้องกัน การลด การหลีกเลี่ยง และการจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ หรือผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ขีดความสามารถในบริบทนี้ยังหมายความรวมถึง ความสามารถในการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือดีกว่าเดิมหลังจากเกิดสถานการณ์เสี่ยงที่มีผลกระทบต่อชุมชนด้วย” (ศุภกร ชินวรรโณ, SEA START 2553)
• การขาดมิติการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและการสร้างศักยภาพ ของชุมชนที่ในหลายส่วนอาจจะกำลังเผชิญปัญหาและพยายามปรับตัวในพื้นที่
โดยสรุปการนโยบายและแผนยุทธศาสตร์รับมือโลกร้อนด้านการเกษตรที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนมากยังไม่มีเนื้อหาสาระและมาตรการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากปัจจุบันและในอดีตที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมทั่วไปมากนัก ทำให้อาจจะกล่าวได้ว่า ปัจจัยที่น่าจะส่งผลถึงทิศทางภาคเกษตรโดยตรงในทศวรรษนี้ จะยังคงเป็นกลไกราคาและมาตรการเฉพาะกิจของรัฐบาลเช่นการประกันราคาพืชผล ตลอดจนมาตรการประกันความเสี่ยงอื่นๆ มากกว่านโยบายรับมือโลกร้อนตามที่ปรากฏในแผน เช่นชาวนาจะปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วมหรือไม่อาจจะขึ้นกับราคาประกันความเสียหายต่อไร่ เช่นเดียวกับการเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชพลังงานก็อาจจะเกิดขึ้นจากการที่น้ำมันขึ้นราคา จนส่งผลให้เกิดความต้องการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นและพืชพลังงานราคาดีขึ้น หรือจากมาตรการอุดหนุนการผลิตของรัฐในขณะนั้นมากกว่าปัจจัยจาก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามที่ปรากฏในแผน
อย่างไรก็ดีการที่แนวนโยบายระยะยาวแบบกว้างและมาตรการระยะสั้นแบบเฉพาะหน้าดังเช่นที่ปรากฏในแผนต่างๆ ข้างต้น มีข้อจำกัดในการช่วยให้ประเทศรับมือผลของการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐและส่วนอื่นๆของสังคมต้องให้ความสนใจและเปิดกว้างต่อองค์ความรู้ใหม่ๆในด้านการปรับตัวที่กำลังมีเสนอกันในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาค เพื่อที่จะนำมาปรับใช้ให้ภาคเกษตรและภาคการผลิตอื่นๆของสังคมอยู่รอดได้อย่างมีทิศทางระยะยาว ฃ
3. บทบาทของชุมชน
เป็นความจริงที่ชุมชนเกษตรตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการปรับตัวในสภาวะภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะมีนโยบายด้านภูมิอากาศโดยตรงหรือไม่ แต่ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าวงจรภูมิอากาศในอดีตอาจจะไม่สามารถบอกสิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้อีกต่อไปภายใต้สถานการณ์โลกร้อน จึงอาจมีความจำเป็นที่ ชุมชนและสังคมจะให้ความสนใจกับองค์ความรู้ในการปรับตัวด้วยวิธีคิดและวิธีการใหม่ๆ และมีส่วนผลักดันให้องค์กรภาครัฐเข้ามาสนใจการคิดใหม่ทำใหม่ในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพระดับประเทศเพื่อจะสามารถให้ทั้งสังคมปรับตัวแบบไม่สร้างความขัดแย้งในอนาคต
แนวคิดหนึ่งด้านการปรับตัวที่มีการนำเสนอในปัจจุบันคือการแนะแนวทางให้ชุมชนสามารถสร้างกระบวนการคิดในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันโดยใช้การจัดทำภาพฉายอนาคตระยะยาวไปในหลายๆ ทศวรรษข้างหน้าภายใต้ตัวแปรหลายรูปแบบภายใต้การแนะแนวทางจากองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในระยะเริ่มต้น
เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความคุ้นเคยกับการสร้างทางเลือกในการจัดการกับความไม่แน่นอนของอนาคตภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ซึ่งหลายชุมชนเมืองต่างๆของโลกได้มีการทดลองทำภาพฉายอนาคตดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองภายใต้สภาวะโลกร้อน ในประเทศไทยมีการทดลองโครงการนำร่องทำภาพฉายอนาคต 30 ปีของเมืองเชียงคาน จังหวัดเลย โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศควบคู่ไปกับปัจจัยการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตโดยเชื่อมโยงจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคต แต่ในขั้นนี้ยังไม่ได้มีการพัฒนาไปสู่ระดับการวางแผน
อีกประเด็นสำคัญของความสำเร็จในการวางแผนรับมือโลกร้อนในภาคเกษตรและภาคอื่นๆของไทย ต้องเริ่มต้นจากการที่สังคมเปลี่ยนวิธีการมองโลกร้อนจากปัจจุบันที่เห็นว่าเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนเกินความเข้าใจหรือเป็นเรื่องทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น มาทำความเข้าใจว่าโลกร้อนกระทบกับทุกภาคส่วนของสังคมในรูปแบบและขอบเขตที่ต่างกันไป จึงเป็นเรื่องที่นักสังคมศาสตร์ด้านต่างๆ ตลอดจนชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเกษตรที่ถือเป็นด่านหน้าของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศควรเข้ามามีบทบาทร่วมกำหนดทิศทางปรับตัวในระดับภายในชุมชนเองและระดับประเทศต่อไป