Skip to main content
Thai Climate Justice Working Group logo

Thai Climate Justice Working Group

  • หน้าแรก
  • ปัญหา
  • ทางออก
  • ประเด็น
  • บอกต่อ
  • คลังข้อมูล
  • กิจกรรม
  • เกี่ยวกับเรา

คลังข้อมูล

ข้อเสนอเบื้องต้นของเกษตรกรรายย่อยต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

Submitted by webmaster on Sun, 09/13/2009 - 18:47

ข้อเสนอเบื้องต้นของเกษตรกรรายย่อยต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน[1]

เครือข่ายเกษตรทางเลือก

13 กันยายน 2552

หลักการร่วมกัน คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้บรรยากาศของโลกไปเกินกว่าที่ควรจะเป็น  ดังนั้น ผู้ปล่อยมลพิษ คือ ประเทศพัฒนาแล้วควรจะรับผิดชอบกับปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก  ไม่ใช่พยายามบิดเบือนให้ภาคเกษตรของเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำเลยของปัญหาโลกร้อน  แม้ว่าในความเป็นจริงการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยอาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกบ้าง  แต่ก็เป็นการปล่อยเพื่อความอยู่รอด  และก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรคาร์บอนตามธรรมชาติ 

บนพื้นฐานหลักการข้างต้น  ข้อเสนอต่อการเจรจาโลกร้อนของรัฐบาลไทยในเวทีที่กรุงเทพ บาเซลโลน่าและโคเปนเฮเกนในช่วงปลายปี 2552 มีดังนี้

  1. การปรับตัวหรือลดปัญหาโลกร้อนในภาคเกษตรจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับสิทธิชุมชนและสิทธิเกษตรกร (รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญ เช่น สิทธิที่ดิน)  และต้องเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมจากเกษตรกรรายย่อยอย่างกว้างขวาง
  2. สนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตสู่เกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์  ซึ่งเป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า รวมทั้งสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินได้  โดยจัดตั้งให้มีกลไกที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน (เช่น ในรูปของสถาบันอิสระเกษตรกรรมยั่งยืน) เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน
  3. เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร จะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
  4. ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ต้องไม่ละเลยองค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน  และหันไปให้ความสำคัญกับความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว เช่น เทคนิคการใช้ถ่านปรับปรุงดินและกักเก็บคาร์บอนซึ่งได้รับการบรรจุอยู่ในร่างเจรจา  แท้จริงแล้วเป็นหลักการที่ไม่ต่างไปจากการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านที่อยู่กับป่า
  5. ฟื้นฟูและส่งเสริมพันธุ์พืชพื้นเมืองซึ่งมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ดีกว่าเป็นทางเลือกในการปรับตัว  พืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเพราะถูกผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ และยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ 
  6. บรรษัทข้ามชาติไม่ควรได้รับการผูกขาดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิต  เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการปรับตัวและการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของเกษตรกรรายย่อย ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 
  7. ประเทศพัฒนาแล้วและรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยเพื่อปรับตัวรับมือกับผลกระทบโดยไม่มีเงื่อนไข  โดยเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
  8. พัฒนาระบบเฝ้าระวังและจัดให้มีข้อมูลพยากรณ์และเตือนภัยทางการเกษตร  โดยให้เกษตรกรราย่อยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางมากที่สุด
  9. นโยบายในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ผิดๆอาจทำให้ภาคเกษตรและเกษตรกรกลายเป็น “เหยื่อ” มากกว่าที่จะเป็นทางออกของปัญหา  เช่น การสนับสนุนให้ธุรกิจปลูกพืชพลังงานอย่างกว้างขวางอาจนำไปสู่ความขัดแย้งด้านทรัพยากรระลอกใหม่  และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพราะหากคำนวณตลอดวงจรการผลิตอาจทำร้ายชั้นบรรยากาศมากกว่า  โดยนัยยะนี้ การแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าอาจหมายถึงการจัดการกับความต้องการพลังงานมากกว่าการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ
 

[1] จากการระดมความคิดเห็นวันที่ 13 กันยายน 2552  โรงแรมพงศ์เพชรเกสโตเตล  กรุงเทพ  จัดโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

 

Attachments: 

ข้อเสนอเบื้องต้นของเกษตรกรรายย่อยต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

ป้ายคำนิยม

coal forest carbon National Master Plan PDP REDD+ การปรับตัว ถ่านหิน ป่าไม้ พลังงาน ภาคประชาชน เกษตรกรรม แผนแม่บทแห่งชาติ
More

Thai Climate Justice Working Group
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม