Skip to main content
Thai Climate Justice Working Group logo

Thai Climate Justice Working Group

  • หน้าแรก
  • ปัญหา
  • ทางออก
  • ประเด็น
  • บอกต่อ
  • คลังข้อมูล
  • กิจกรรม
  • เกี่ยวกับเรา

คลังข้อมูล

จุดยืนและข้อเสนอภาคประชาชนไทย ต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD)

Submitted by webmaster on Fri, 11/08/2013 - 17:35

จุดยืนและข้อเสนอภาคประชาชนไทย

ต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า

และความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD)[1]

 

REDD ในสถานการณ์ปัญหาป่าไม้-ที่ดินของไทย

การแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยการใช้กลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา หรือ REDD ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคป่าไม้นั้น นำมาซึ่งความวิตกกังวลครั้งใหม่ของชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า ทั้งนี้ นับเป็นเวลายาวนานถึง 2 ทศวรรษที่ชุมชนเหล่านั้น ร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองสิทธิชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน แม้ว่าในที่สุดพระราชบัญญัติป่าชุมชนจะประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่เนื้อหาก็บิดเบือนไปจากเจตรมย์ของประชาชน นั่นก็คือประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ยังคงถูกกีดกัดและจำกัดสิทธิเช่นเดิม นั่นก็หมายความว่า สิทธิของชุมชนยังไม่เป็นที่ยอมรับในการอยู่กับป่า

กฎหมายของประเทศไทยให้การรับรองสิทธิเพียง 2 แบบเท่านั้น คือ สิทธิของรัฐ และสิทธิเอกชน สำหรับสิทธิส่วนรวมหรือสิทธิชุมชนนั้น ไม่ได้รับการยอมรับในระบบกฎหมายไทยแต่อย่างใด กฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้ของประเทศไทยปัจจุบันยังคงขัดแย้งกับสิทธิชุมชน หากยังไม่มีการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการและฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืนตามกฎหมาย ก่อนการนำกลไก REDD มาใช้นั้น อาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มชนเผ่าบนพื้นที่สูงที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน

ในบริบทของสังคมไทยนั้น ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐมักมองชาวบ้านหรือคนชนเผ่าบนพื้นที่สูง ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายป่าและการลดลงของพื้นที่ป่า และขาดความเชื่อมั่นว่าชุมชนจะสามารถรักษาและจัดการป่าอย่างยั่งยืนได้ ทัศนคตินี้เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนต่อสู้เรียกร้องการรับรองสิทธิของชุมชนในเขตป่า ทั้งที่มีข้อมูลและงานศึกษาจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุของการทำลายป่าในประเทศเขตร้อนนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปพึ่งตลาดมากขึ้น และชุมชนต้องบุกเบิกขยายพื้นที่เข้าไปในเขตป่ามากขึ้น 

จุดยืนเชิงหลักการ

ภาคประชาชนยืนยันจุดยืนต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและกลไก REDD บนหลักการร่วมกัน 3 ประการ ดังนี้

1. ความเป็นธรรม:

เนื่องจากฐานคิดเรื่องทุนนิยมและกลไกตลาดนั้นถูกควบคุมด้วยกลุ่มคนจำนวนน้อย ในขณะที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปกำหนดควบคุมได้ การตีค่าทรัพยากรป่าไม้ให้เป็นสินค้า จึงเท่ากับเป็นการแปรเปลี่ยนระบบสิทธิจากสิทธิส่วนรวมของชุมชนไปเป็นสิทธิของปัจเจกเอกชน ดังนั้น ภาคประชาชนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการใช้ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นฐานยังชีพของคนยากจนนั้นมาขายเป็นสินค้า ในทางกลับกันทรัพยากรป่าไม้ควรที่ต้องคำนึงถึงระบบคุณค่าทางจิตใจ การแบ่งปัน และความพอเพียง เพื่อเก็บรักษาป่าไม้ไว้ไว้สำหรับรุ่นลูกหลานในอนาคต

ภาคประชาชนขอยืนยันหลักการที่ว่า “ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” เมื่อประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ประเทศเหล่านั้นก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น นอกจาก REDD จะมิใช่วิถีทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว ยังเป็นวิถีทางที่ไม่เสมอภาคและยั่งยืนอีกด้วย  

2. สิทธิ :

การทำหน้าที่ผลิตอาหาร และการใช้ทรัพยากรป่าไม้เป็นฐานการยังชีพ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง จึงต้องไม่นำไปเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน ในทางกลับกันประชาชนกลุ่มต่างๆ จะต้องได้รับการปกป้องวิถีชีวิต วัฒนธรรม โดยเฉพาะสิทธิของคนชนเผ่า/คนพื้นเมืองที่ได้รับการรับรองไว้ในปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองของสหประชาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องส่งเสริม“สิทธิชุมชน” ที่หมายถึงสิทธิร่วมกันที่มีทรัพยากรธรรมชาติ  มิใช่การผูกขาดเฉพาะสิทธิของรัฐและเอกชน และโดยการกลไกของรัฐและกลไกการตลาดเท่านั้น

3. การแก้ปัญหาโลกร้อน ต้องไม่แยกขาดจากทิศทางการพัฒนา :

ทิศทางการส่งเสริมการผลิตที่ทั้งระบบอยู่ในการควบคุมผูกขาดของบริษัท ซึ่งมุ่งเน้นเป้าหมายการแสวงหาประโยชน์สร้างผลกำไรเป็นที่ตั้ง อาทิเช่น การส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่ ยังผลให้ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขาย รวมไปถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ทิศทางเหล่านี้เป็นปัญหาหลักของการทำลายทรัพยากร ตราบใดที่ทิศทางของโลกยังคงเดินหน้าเช่นนี้ต่อไป คงไม่อาจแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ต้นตอได้

ข้อเสนอเชิงมาตรการ

  1. จุดยืนร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ชัดเจน เช่น ปัญหาโลกร้อนต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือประเทศพัฒนาแล้ว  พวกเราไม่เห็นด้วยกับมาตราการ REDD ที่จะนำป่าของชุมชนไปขายในตลาดคาร์บอน และไม่ควรใช้กลไกตลาดเพียงมาตรการเดียวมาใช้เป็นมาตรการในการส่งเสริมชุมชนในการรักษาป่า
  2. REDD จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในการใช้และจัดการทรัพยากร  รวมถึงสิทธิชนเผ่าตามที่ระบุไว้ในปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง
  3. รัฐบาลจะต้องกระบวนการปรึกษาและหารือ และรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนการรับ REDD มาปฎิบัติ
  4. พวกเราสนับสนุนหลักการของ REDD ในการสนับสนุนให้ชุมชนดูแลรักษาป่า ซึ่งชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้ฟื้นฟูและรักษาป่าอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว ทางรัฐบาลต้องมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน
  5. การนิยามความหมายของป่า ต้องมีความหมายกว้างขวางไม่เฉพาะแต่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงวิถีชีวิต ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ
  6. สร้างความพร้อมให้กับภาคประชาชนไทย เพราะขณะนี้ภาคประชาชนไทยยังไม่พร้อมที่จะรับ REDD จนกว่าจะมีการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่อง REDD เช่น การศึกษาวิเคราะห์ประเมินผลดี-ผลเสียที่จะตกกับชุมชนหากประเทศไทยรับ REDD เข้ามา การพัฒนากลไกควบคุมตรวจสอบที่เป็นอิสระ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการรักษาและฟื้นฟูป่าของชุมชน อย่างละเอียดรอบด้านก่อนรับ REDD และต้องมีการกระจายข้อมูลในเรื่อง REDD สู่ชุมชนให้มากที่สุด
  7. การยกระดับขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนเชื่อมโยงกับประเด็นโลกร้อน ในฐานะที่เป็นฐานยังชีพและแหล่งเก็บกักคาร์บอน รวมไปถึงการขยายเครือข่ายชนเผ่า/คนพื้นเมืองในระดับสากล เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนทิศทางในประเด็นเกี่ยวกับ REDD
  8. การจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนชุมชนในการรักษาป่าสำหรับเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน เช่น ธนาคารสีเขียว กองทุนต้นไม้ ฯลฯ
  9. กองทุนใดๆ ที่มาจากการสนับสนุนการรักษาป่าเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ต้องมีกลไกในการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ
  10. ท้ายที่สุดแล้ว หากประเทศไทยรับเอามาตรการ REDD มาดำเนินการ จะต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับการสนับสนุนชุมชนรักษาป่าสำหรับเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน เครดิตคาร์บอนที่ได้จะต้องไปนำไปขายในตลาดคาร์บอน แต่ควรเก็บไว้เป็นคาร์บอนเครดิตของชุมชน ในรูปของธนาคารคาร์บอน

 

 

หยุดขายชาติ ขายสิทธิ

หยุดขายเครดิตคาร์บอน

 

[1] เรียบเรียงขึ้นจาก
1) การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “จุดยืนและข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน” วันที่ 20-21 พฤษภาคม 2552, กรุงเทพ จัดโดย เครือข่ายลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม ร่วมกับแผนงานประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน  มีผู้เข้าร่วมจากภาคประชาชน 11 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายป่าชุมชน, เครือข่ายพลังงงาน, สมัชชาคนจน, เครือข่ายผู้บริโภค, เครือข่ายผู้ติดเชื้อ, เครือข่ายประมง, เครือข่ายผู้หญิง, เครือข่ายชนเผ่า, เครือข่ายป่าเทือกเขาบรรทัด, เครือข่ายแรงงาน 
2) การประชุมโต๊ะกลมเรื่อง “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) : แนวคิด สถานการณ์ และทิศทางของประเทศไทย”  จัดโดย แผนงานประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เครือข่ายลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม สมาคมสนับสนุนป่าชุมชนไทย  โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ  โดยผู้เข้าร่วมมาจากเครือข่ายป่าชุมชน 4 ภาค 

Attachments: 

2009-05-21_จุดยืนและข้อเสนอภาคประชาชนไทยต่อREDD_พค52.pdf

ป้ายคำนิยม

coal forest carbon National Master Plan PDP REDD+ การปรับตัว ถ่านหิน ป่าไม้ พลังงาน ภาคประชาชน เกษตรกรรม แผนแม่บทแห่งชาติ
More

Thai Climate Justice Working Group
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม