โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางออกของโลกร้อน ??[1]
โดย: สันติ โชคชัยชำนาญกิจ จากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต
อุตสาหกรรมนิวเคลียร์อยู่ในภาวะตกต่ำมาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียณ์เชอร์โนบิลที่ประเทศรัสเซียรั่วไหล แต่ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์กำลังมีความพยายามที่จะฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ โดยการอ้างเหตุผลว่าเป็นทางเลือกด้านพลังงานที่จะมาแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการแก้ปัญหาโลกร้อน ในส่วนของประเทศไทยก็เป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุพลังงานนิวเคลียร์เข้าสู่แผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจเชิงนโยบายแล้วที่จะนำพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาใช้
โดยภาพรวมของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2007 (พีดีพี 2007) นับจากนี้ไปจนถึงปีพ.ศ. 2564 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ รวมกำลังการผลิตกว่า 22,000 เมกะวัตต์ นี่คือพลังงานที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ขณะที่เรามีข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานจากลม ก๊าซชีวมวล ฯลฯ) รวมกันถึง 56,000 เมกะวัตต์ แต่ในแผนพีดีพีฯ กลับมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2,000 เมกะวัตต์ในระยะ 15 ปีข้างหน้า ในทางกลับกัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์กลับจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นถึงกว่า 22,000 เมกะวัตต์ คำถามคือ เราจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้ามากขนาดนั้นหรือไม่
ย้อนกลับไปดูเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคือ ระหว่างปี 2541-2551 การใช้ไฟฟ้าของเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 22,000 เมกะวัตต์เมื่อปี 2551 ซึ่งตามความจำเป็นในด้านความมั่นคงพลังงาน เราจะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่าที่ใช้อยู่จริงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าเรามีโรงไฟฟ้าอยู่ในระบบมากกว่านั้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่นในปี 2551 เรามีโรงไฟฟ้าที่เกินจากความจำเป็นประมาณ 3,939 เมกะวัตต์ หรือมากกว่า 2 เท่าของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ทั้งภาค โรงไฟฟ้าที่สร้างเกินความจำเป็นเหล่านี้ คิดเป็นต้นทุนกว่า 100,000 ล้านบาท และต้นทุนเหล่านี้ก็ถูกผลักภาระเข้ามาในค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคอย่างเราทุกคนต้องจ่ายอยู่ทุกเดือน และถ้าเราเดินตามแผนพีดีพี 2007 ต่อไป ในอีก 14 ปีข้างหน้า คือในปี 2564 เราจะมีโรงไฟฟ้าที่เกินจากที่มีสำรองอยู่15 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นอีกประมาณ 7,581 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย และพลังงานนิวเคลียร์ก็อยู่ในจำนวนนั้นด้วย
ปัจจุบันภาคพลังงานของประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 56.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในจำนวนนี้มาจากพลังงานไฟฟ้า 41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์มาจากภาคการขนส่ง คำถามมีอยู่ว่าก๊าซเรือนกระจก 41 เปอร์เซ็นต์นี้มาจากประชาชนทั่วไปหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะการใช้พลังงานไฟฟ้านั้น 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ส่วนประชาชนทั้งประเทศซึ่งใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนนั้นรวมแล้วคิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
กล่าวอีกอย่างคือว่า ภาคอุตสาหกรรมกับภาคธุรกิจซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนั้นใช้ไฟฟ้ามาก แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น และเป็นการใช้เพื่อความจำเป็นพื้นฐานในชีวิต ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจเพื่อหากำไร แต่คนส่วนใหญ่เหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้เสียสละทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่ดีให้แก่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อยู่เสมอ ตัวอย่างที่ไม่เป็นธรรมที่เห็นได้ชัดเจนอันหนึ่งคือ การใช้ไฟฟ้าของกรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2549 คนกรุงเทพฯ ใช้พลังงานไฟฟ้ารวมถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ หรือถ้าคิดเป็นความต้องการพลังไฟฟ้า กรุงเทพต้องการกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของทั้งประเทศ (ตัวเลขเมื่อปีพ.ศ. 2551) แต่เวลาจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ไปสร้างที่ไหน เราต่างทราบกันดี และขณะนี้ก็มีการสำรวจพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ถึง 14 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ที่ภาคใต้ 12 แห่ง ทั้ง ๆ ที่ภาคใต้คือ ภาคที่ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดของประเทศ ดังที่แสดงให้เห็นในตารางข้างล่างนี้
|
การใช้พลังงานไฟฟ้า (ปี 2549) |
ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (ปี 2551) |
||
ล้านหน่วย |
ร้อยละ |
เมกะวัตต์ |
ร้อยละ |
|
กรุงเทพฯ |
41,483 |
32.5 |
8,816 |
39 |
ภาคกลาง |
55,193 |
43.2 |
7,985 |
35 |
ภาคเหนือ |
9,802 |
7.7 |
2,368 |
10 |
ภาคอีสาน |
11,045 |
8.6 |
2,578 |
11 |
ภาคใต้ |
10,288 |
8.0 |
1,880 |
8 |
เปรียบเทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้าปี 2549 |
|||
จังหวัด (ล้านหน่วย) |
ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ (ล้านหน่วย) |
||
แม่ฮ่องสอน |
65 |
278 |
สยามพารากอน + เซ็นทรัล เวิลด์ + มาบุญครอง
|
อำนาจเจริญ |
110 |
||
มุกดาหาร |
128 |
||
หนองบัวลำภู |
148 |
||
น่าน |
175 |
||
ยโสธร |
188 |
||
อุทัยธานี |
193 |
||
พะเยา |
211 |
||
มุกดาหาร |
219 |
||
สตูล |
230 |
||
สมุทรสงคราม |
237 |
||
เลย |
246 |
||
แพร่ |
254 |
||
พัทลุง |
258 |
||
นราธิวาส |
278 |
||
ระนอง |
278 |
ที่มา: 1) การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2549
2) รายงานการใช้ไฟฟ้า พ.ศ. 2549 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
พลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน
ขณะนี้มีประเด็นว่าพลังงานนิวเคลียร์กำลังจะเป็นพระเอกในการแก้โลกร้อน ข้อเท็จจริงก็คือพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน แหล่งยูเรเนียมที่มีคุณภาพที่เอามาใช้ได้สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่แล้ว 439 โรง ขณะนี้ใช้ไปได้ประมาณ 50 ปีก็จะหมด ดังนั้นยูเรเนียมจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเราเพิ่มการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้นกว่าที่ใช้อยู่ ยูเรเนียมก็จะยิ่งแพงขึ้นและหมดเร็วขึ้นไปอีก นอกจากนี้พลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่ได้ปลอดซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จริงอย่างที่กลุ่มผู้สนับสนุนพยายามพูดกัน เพราะก่อนที่จะนำแร่ยูเรเนียมมาผลิตไฟฟ้าได้ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การทำเหมืองแร่ยูเรเนียม การผลิตแท่งเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลจำนวนมาก แล้วแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วก็ต้องมีการดูแลจัดการต่อไปอีกเป็นพันๆ ปี กระบวนการเหล่านี้มีการปล่อยคาร์บอนมากมายตามรูปภาพที่แสดงอยู่ด้านล่าง และสิ่งที่สำคัญคือ พลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายที่พลังงานอย่างอื่นไม่มี นั่นคือ อันตรายจากกัมมันตภาพรังสี
แม้ว่ามีการพูดถึงภาพรวมของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกว่า มาจากภาคพลังงานไม่ถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มาจากไฟฟ้าไม่ถึง 24 เปอร์เซ็นต์ และไฟฟ้าที่ใช้ทั่วโลกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั้งหมด คำถามมีอยู่ว่า หากคิดจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ช่วยลดภาวะโลกร้อน จะต้องทำอย่างไร
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) มีรายงานเมื่อปี 2551 ชี้ว่า หากต้องการบรรเทาผลกระทบจริงๆ ทั่วโลกต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 หรือภายในช่วง 40 ปีข้างหน้า และประเทศพัฒนาแล้วจะต้องลดคาร์บอนให้ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ภายใน 10 ปีข้างหน้า หากใช้โจทย์นี้เป็นตัวตั้งแล้วเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น จากรายงาน “Energy Technologies Perspective 2008” ที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) นำออกมาเผยแพร่ระบุว่า หากในระยะ 40 ปีนับจากวันนี้ ทั่วโลกเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็น 4 เท่าของการใช้ในปัจจุบัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกได้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์จากเป้าหมายที่ควรจะลดให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เกือบจะไม่มีผลอะไรต่อการช่วยกู้วิกฤติการณ์ของปัญหาโลกร้อนเลย
ตรงกันข้ามการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นอีก 4 เท่า หมายความว่าทั่วโลกจะต้องสร้างเตาปฏิกรณ์ 1,400 โรงภายใน 40 ปี เฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งต้องสร้าง 2 โรง ใช้เงินประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินจำนวนนี้ถ้านำไปลงทุนในด้านอื่นเพื่อเป้าหมายในการลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซ จะช่วยลดคาร์บอนได้มากกว่าการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือ การหลีกหนีปัญหาโลกร้อนด้วยการมุ่งสู่พลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นการหนีเสือปะจระเข้ เพราะการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น 1,400 โรง หมายถึงโลกจะมีกากนิวเคลียร์เฉพาะจากแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว 35,000 ตันต่อปี มีพลูโตเนียมรวมอยู่ในนั้น 350 ตันต่อปี ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นระเบิดนิวเคลียร์ได้ถึงปีละ 35,000 ลูก กากนิวเคลียร์ปริมาณมหาศาลต่อปีนี้จะก่อภาระในเรื่องการจัดการดูแลให้ปลอดภัยต่อไปอีกนาน และเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องการก่อการร้ายหรืออุบัติเหตุทางนิวเคลียร์อีกมากมาย ดังนั้น พลังงานนิวเคลียร์จึงไม่ใช่ทางออกของภาวะโลกร้อน
เลิกขู่ไฟฟ้าตกต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม!
แต่เรามักจะถูกขู่ให้กลัวกันไปว่า หากไม่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เดี๋ยวไฟจะตก ไฟจะดับทั้งประเทศ แต่ในความเป็นจริงปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของเราไม่ได้มาจากการมีโรงไฟฟ้าไม่พอ ดังจะเห็นได้จากปริมาณกำลังผลิตสำรองที่ล้นระบบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในหลายครั้งก็ยังเกิดสถานการณ์ไฟตกไฟดับนั้นเกิดขึ้นเพราะปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมของระบบไฟฟ้าของเรา จากการที่ประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนชนบทใช้ไฟฟ้าจริงๆ ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่คนส่วนน้อยในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจคือ ผู้บริโภคไฟฟ้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้โดยคนส่วนน้อย และต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัดของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ โดยที่โรงไฟฟ้าใหม่มักจะถูกกำหนดให้สร้างในพื้นที่ชนบทที่ประชาชนมีวิถีชีวิตพึ่งพาอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่จะถูกทำลายจากการสร้างโรงงไฟฟ้า
ปัจจุบัน เราจะเห็นว่า ชุมชนได้ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ามากขึ้น แม้กระทั่งโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในหลายพื้นที่กำลังเผชิญกับโครงการพลังงานชีวมวลขนาดไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ คือไม่ถึง 10 เมกะวัตต์เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ปัจจุบันโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย โดยมีแรงจูงใจทางด้านผลกำไรเป็นสำคัญ เพราะนอกจากรัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมด้วยเงินส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าแล้ว ในประเด็นเรื่องโลกร้อนยังมีโครงการซีดีเอ็มซึ่งโครงการเหล่านี้อาจจะได้เงินอีกต่อหนึ่งจากการขายคาร์บอนเครดิต โครงการจำนวนมากจึงไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คิดถึงเรื่องกำไรเพียงอย่างเดียว คำถามคือ การที่ชุมชนลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการเหล่านี้ผิดไหม ผมคิดว่าไม่ผิด ถ้าเราคิดในแง่ที่ว่าโครงการเหล่านี้แม้จะผลิตพลังงานสะอาด แต่ก็ยังคงผลิตขึ้นเพื่อป้อนให้กับการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย เป็นการบริโภคอย่างเผาผลาญโลกอยู่นั่นเอง
สุดท้าย การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนจากภาคพลังงานคงไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะมีทางเลือกในการจัดหาพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าเราจะบริโภคพลังงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเกิดความเป็นธรรมทางสังคมในระบบไฟฟ้ามากขึ้นได้อย่างไร
----------------------------------------------
[1] เอกสารชุดนี้เรียบเรียงมาจากการนำเสนอของคุณสันติ โชคชัยชำนาญกิจ จากเวทีสัมมนา “ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างเป็นธรรม” วันที่ 3-4 ตุลาคม 2552 ณ โรงเรียนวัดเบญจมพิตร กรุงเทพ จัดโดย คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาชนไทย