เพื่อการฟังการเจรจาโลกร้อนอย่างเข้าใจ
...แบบมืออาชีพ !!
“เกียวโต โปรโตคอล: เคพี” (Kyoto Protocol: KP) - พิธีสารเกียวโต เรียกตามชื่อเมืองที่จัดการประชุมและให้การรับรองพิธีสารนี้ ซึ่งมีข้อกำหนดสำคัญคือ ให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณการปล่อยในปี พ.ศ. 2533 เฉลี่ย 5.2% ภายในช่วงปี พ.ศ. 2551 – 2555 ส่วนประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ต้องจัดทำแนวทางการดำเนินนโยบายและกิจกรรมต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ได้ระบุเป้าหมาย ทั้งด้านปริมาณและระยะเวลา พิธีสารเกียวโตเริ่มเปิดให้ลงนามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2540 แต่มีผลบังคับใช้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 คือ ใช้เวลานานเกือบ 8 ปี
“กรีนเฮ้าส์ แก๊ส” (Greenhouse gases) - ก๊าซเรือนกระจก พิธีสารเกียวโตกำหนดก๊าซที่เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนไว้ 6 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PCFs) และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ (SF6) (ส่วนก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและก่อผลให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยนั้นถูกจัดรวมอยู่ภายใต้การจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว จึงไม่รวมอยู่ในบัญชีของพิธีสารเกียวโต) โดยเปรียบเทียบแล้ว แม้ว่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด แต่เมื่อพิจารณาการสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ พบว่า คาร์บอนไดออกไซด์สามารถสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานถึง 200-450 ปี
“แค๊บแอนเทรด” (Cap and Trade) คือ วิธีการที่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซในประเทศของตน โดยกำหนดเพดานในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี แล้วจัดสรรโควตาการปล่อยก๊าซ หรือสิทธิในการปล่อย ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทต่างๆ ในประเทศ หากกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบริษัทใดมีความต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโควตาที่ได้รับ ก็ต้องซื้อสิทธิจากกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบริษัทอื่นที่มีโควตาเหลือ
“คาร์บอน ซีเควสเตรชั่น” (Carbon sequestration )- การเก็บกักธาตุคาร์บอน วิธีในการเก็บรักษาก๊าซเรือนกระจกโดยการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับหรือการอัดก๊าซลงไปในที่เก็บใต้พื้นดิน
“คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) เครดิตคาร์บอน หมายถึง เครดิตสมมุติที่ได้รับจากการสร้างโครงการหรือทำกิจกรรมที่ได้ชื่อว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ซึ่งเครดิตนี้มักจะถูกนำไปขายในตลาดคาร์บอนให้กับกลุ่มประเทศหรือธุรกิจที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชดเชยการปล่อย
“ค็อบ” ( The Conference of the Parties: COP) - สมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ หน่วยงานสูงสุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ประกอบด้วยภาคีที่ให้สัตยาบันภายใต้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) การประชุมของ COP จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี องค์ประชุมประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาลของประเทศภาคี ทำหน้าที่พิจารณาข้อตัดสินใจและมติสำคัญที่เป็นพื้นฐานการอนุวัตการตามอนุสัญญาหรือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา รวมทั้งเพื่อติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบ และกำหนดระเบียบขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ การประชุมครั้งล่าสุดคือ การประชุม COP 15 ที่เมืองโคเปนเฮเกน
“คอมมิตเม้นท์ พีเรียด” (Commitment Period) - ช่วงพันธกรณี ช่วงเวลาที่ประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 มีพันธกรณีช่วงแรกที่ต้องบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 จนถึง 31 ธันวาคม 2555 โดยต้องลดการปล่อยก๊าซในอัตราเฉลี่ย 5.2% จากระดับการปล่อยก๊าซเทียบกับปี 2533 ส่วนพันธกรณีช่วงที่สองกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาในขณะนี้
“คาร์บอนซิงค์” (Carbon Sinks) อ่างกักเก็บคาร์บอนฯ หมายถึงแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การเก็บไว้ในดินในรูปของอินทรีย์สาร การเก็บไว้ใต้ชั้นหินในมหาสมุทร และการปลูกป่า
“เจไอ” (Joint Implementation: JI) - การดำเนินการร่วม เป็นหนึ่งในสามกลไกทางการตลาดภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งจำกัดให้ดำเนินการได้เฉพาะในกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 เท่านั้น ประเทศที่เกี่ยวข้องจะตกลงดำเนินโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน และแบ่งสรรปริมาณการลดนั้น ซึ่งจะถูกนำไปคิดหักลบกับปริมาณการลดตามพันธกรณี ส่วนใหญ่แล้วเป็นการร่วมกันของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นระบบตลาดเสรี เนื่องจากประเทศที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจมีพันธกรณีที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นน้อยกว่า ผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ Emission Reduction Unit (ERU) สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้และผ่านการตรวจวัดแล้ว
“ซับซตา” SBSTA: Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice – องค์กรเพื่อให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ซีซีเอส” (Carbon Capture and Storage: CCS) การกักเก็บก๊าซคาร์บอน เป็นเทคนิควิธีการนำคาร์บอนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเข้ามาอัดเพื่อกักเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บ เช่น ใต้ดิน ใต้มหาสมุทร ซึ่งปัจจุบันเทคนิคนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังมีข้อโต้เถียงอีกหลายอย่าง เช่น การใช้พลังงานจำนวนมหาศาลและ ต้นทุนสูง เป็นต้น
“ซีดีเอ็ม” (Clean Development Mechanism: CDM) - กลไกพัฒนาที่สะอาด เป็นหนึ่งในสามกลไกทางการตลาดภายใต้พิธีสารเกียวโต ที่ให้ประเทศกำลังพัฒนาขายคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีพันธะกรณีที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยทั่วไป บริษัทธุรกิจจากประเทศพัฒนาแล้วจะนำเงินมาลงทุนในโครงการที่ได้ชื่อว่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา เช่น การปรับปรุงโรงงานผลิตไฟฟ้า การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบขนส่ง โครงการพลังงานทดแทน การแปลงกากของเสียอุตสาหกรรมเป็นพลังงาน ฯลฯ รวมถึงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าเพื่อเก็บกักคาร์บอนไว้ในรูปของเนื้อไม้ คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการนั้นจะถูกนำมาคำนวณแล้วขายต่อให้ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อนำไปหักลบชดเชยกับพันธะกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว
“เซ็คโตรอล แอ็บโพรช” (Sectoral Approach) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้หลังปี 2555 โดยแทนที่จะกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเป็นรายประเทศแบบเดิม ก็ให้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเป็นรายสาขาการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซมาก เช่น สาขาเหล็ก อุตสาหกรรมซีเมนต์ น้ำมัน เป็นต้น มาตรการนี้ใช้หลักความสมัครใจ และสามารถนำไปใช้กับทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา (ขึ้นอยู่กับการเจรจา)
“นอนแอนเนคซ์วัน” (Non-Annex I Countries) - กลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ประกอบด้วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 (รวมถึงไทย) ซึ่งไม่มีพันธกรณีบังคับที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศภายใต้พันธะกรณีช่วงแรกจนถึงปี 2555
“นาปา” (NAPA: National Adaptation Plan of Action) - แผนปฏิบัติการปรับตัวแห่งชาติ คือ แผนที่ให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดกำหนดกิจกรรมด้านการปรับตัวรับมือที่ตนเองให้ความสำคัญ
“นามา” (NAMA:National Appropriation Mitigation Action) - แผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมแห่งชาติ คือ แนวทางหรือแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ยังคงให้พื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาต่อไป
“บาหลี โรดแม็บ” (Bali Roadmap) - แผนการดำเนินงานบาหลี เป็นกรอบการเจรจาสำหรับการจัดทำพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกหลังจากปีพ.ศ. 2555 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน Bali Roadmap การเจรจาเรื่องดังกล่าวจะต้องเสร็จสิ้นภายในปี 2552 โดยจะมีกลไกการเจรจาสำคัญแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ AWG-LCA และ AWG-KP
“บีเอยู” (Business as usual: BAU) – กรณีเมื่อธุรกิจดำเนินไปตามปกติโดยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือการลงมือเพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาโลกร้อน
“พีพีเอ็ม” และ “พีพีบี” (ppm and ppb) คือ หน่วยแสดงถึงความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ได้แก่ ส่วนต่อล้านส่วน (parts per million) และ ส่วนต่อพันล้านส่วน (parts per billion) ตามลำดับ
“มิติเกชั่น” (Mitigation) – การบรรเทาแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือ พยายามดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ
“ยูเอ็นเอฟซีซีซี” (UNFCCC)- อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นฐานสำคัญที่กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาโลกร้อน วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯเพื่อรักษาความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อให้ระบบนิเวศน์ธรรมชาติสามารถปรับตัวได้ และเพื่อเป็นการประกันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามไม่ได้กำหนดระดับหรือปริมาณก๊าซที่จะรักษาปริมาณไว้เป็นตัวเลขที่แน่นอน เนื้อหาของอนุสัญญาจึงเป็นเพียงกรอบกว้างๆ หลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ คือ
- “หลักการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยกว่า” ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ความสะดวก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยีกับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ให้อยู่เดิม
- “หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง" คือ ทุกประเทศมีความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ภาระและระดับในการรับผิดชอบจะแตกต่างกันตามระดับการปล่อยก๊าซในประวัติศาสตร์
- “หลักการป้องกันไว้ก่อน” กิจกรรมที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจน จะต้องจำกัดหรือห้ามดำเนินการ เพราะหากรอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าแก้ไขได้
- “หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร” ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความโปร่งใส
“เรด” (REDD: Reducing Emission from Deforestation and forest Degradation) คือ การลดการปล่อยคาร์บอนจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่ถูกเสนอขึ้นมาตั้งแต่การประชุม COP 13 ที่บาหลี อินโดนีเซีย กลไกนี้พัฒนาขึ้นเพื่อจูงใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงวิธีหรือแนวทางการใช้ทรัพยากรป่าไม้ เช่น REDD เสนอแนวทางใหม่ของการลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกิจกรรมที่ป้องกันการสูญเสียป่าไม้ หรือความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยในแต่ละประเทศจะทำการตรวจวัดและติดตามการปล่อยก๊าซภายในประเทศของตน หลังจากนั้นตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด จะทำการคำนวณปริมาณของก๊าซอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบ และได้ผลตอบแทนในรูปของคาร์บอนเครดิตที่คิดตามปริมาณก๊าซที่ลดลง ซึ่งเครดิตนี้จะสามารถซื้อขายได้ในตลาดคาร์บอน
“เรด พลัส” (REDD-Plus: Reducing Emissions from Deforestation and forest Degradation; and the role of conservation, sustainable management of forests and enhancement of forest carbon stocks in developing countries) ล่าสุดร่างเนื้อหาสรุปล่าสุดจากการประชุม UNFCCC ณ กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อวันที่ 7-18 ธันวาคม 2552 คือ เรด พลัส (REDD-Plus) ด้วยการเพิ่มประเด็น บทบาทของการอนุรักษ์ การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ ในประเทศกำลังพัฒนา (FCCC/AWGLCA/2009/L.7/Add.6)
“ลูลูซีเอฟ” (LULUCF: Land Use, Land Use Change and Forestry) - การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ เนื่องจากดินและป่าไม้สามารถเป็นได้ทั้งแหล่งกักเก็บคาร์บอนและแหล่งปล่อยก๊าซ พิธีสารเกียวโตจึงกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วนําปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้มาคิดคํานวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแต่ละประเทศ
“อีมิชชั่น เทรดดิ้ง: อีที” (Emission Trading: ET) - กลไกการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก หรือเรียกอีกอย่างว่า Cap and Trade เป็นหนึ่งในสามกลไกทางการตลาดภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 สามารถถ่ายโอนภาระการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศภาคผนวกที่ 1 ด้วยกันเองผ่านการซื้อขายคาร์บอน
“อีมิชชั่น” (Carbon emission) - การปล่อยคาร์บอน หมายถึงการปลดปล่อยคาร์บอนในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การเผาป่า การใช้ถ่านหิน (เผาฟอสซิล) การใช้น้ำมันปิโตเลียม การออกซิไดซ์ของอินทรีวัตถุ รวมทั้งการปลดปล่อยในรูปของก๊าซมีเทน จากการย่อยสลายของเศษซากพืช และอินทรียวัตถุในสภาพน้ำขังและมีออกซิเจนน้อย เช่น พื้นที่พรุ และพื้นที่ลุ่ม เป็นต้น
“ออฟเซ็ต” (Offset) คือ การชดเชยคาร์บอนที่ได้ปล่อยไปแล้วด้วยกิจกรรมหรือมาตรการบางอย่าง เช่น การปลูกป่า หรือ การจ่ายเงินให้องค์กรกลางนำไปทำโครงการพลังงานทดแทน เป็นต้น
“อะแด็บเทชั่น” (Adaptation) – การปรับตัวและรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การสร้างมาตรการป้องกันภัยพิบัติหรือสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า การเตรียมรับมือกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
“เอดับบลิวจี แอลซีเอ” (AWG-LCA: Ad-Hoc Working Group on Long-term Cooperative Action Under the Convention) เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นใหม่ อยู่ภายใต้กรอบของอนุสัญญายูเอ็นเอฟซีซีซี ซึ่งจะดูเป้าหมายและวิสัยทัศน์ในระยะยาวของอนุสัญญา รวมถึงประเด็นอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่ เรื่อง การปรับตัว การถ่ายโอนเทคโนโลยี การเงิน เป็นต้น
“เอดับบลิวจี เคพี” (AWG-KP: Ad Hoc Working Group On Further Commitments For Annex I Parties Under The Kyoto Protocol) เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจที่มีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งจะดูในส่วนของการเจรจาเรื่องเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ และการจัดสรรพันธะกรณีให้ประเทศต่างๆที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซ
“แอนเนคซ์วัน” (Annex I Countries) - กลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 ประกอบด้วยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นระบบตลาดเสรี และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม รวม 41 ประเทศ มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลารุส เบลเยียม บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบอร์ก โมนาโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย รัสเซีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี ยูเครน สหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา
“ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) - คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งขึ้นในปี 1988 มีหน้าที่รวบรวม ศึกษา วิจัย และสังเคราะห์ความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการประเมินผลออกมาเป็นระยะๆ เป็นหน่วยที่สร้างฐานข้อมูลทางวิชาการให้กับอนุสัญญายูเอ็นเอฟซีซีซี และรัฐบาลแต่ละประเทศสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
****************************