องศาที่ตับแตก
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า “โลกร้อน” แม้จะไม่มีการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการ แต่เป็นไปได้ว่ามนุษย์โลกพูดคำว่าโลกร้อน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ครั้ง สถานการณ์โลกร้อนที่ทุกคนคุ้นเคยมาพร้อมกับภาพอากาศที่ร้อนขึ้น น้ำท่วมโลก น้ำแข็งละลาย หมีขั้วโลกเกาะก้อนน้ำแข็งเล็กๆ รอเวลาจมน้ำตาย และการรณรงค์ “ปิดไฟ ใช้ถุง(ผ้า)” ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ปัญหาความเป็นความตายของมนุษยชาติแก้ไขได้ง่ายๆ แค่นี้เองหรือ?
โลกร้อนคืออะไรกันแน่
ภาวะโลกร้อนก็คือ สภาวะที่อุณภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น ปิดกั้นความร้อนของดวงอาทิตย์ไม่ให้สะท้อนกลับไปนอกโลก เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แปรปรวนทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน และฤดูกาล
เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาของมนุษยชาติ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงเกินไปจึงต้องเฉลี่ยให้มนุษย์ทุกคน รับผิดชอบร่วมกัน ปัญหาถัดไปจึงอยู่ที่ว่า ใครเป็นต้นตอสำคัญในการผลิตก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงที่จำเป็นต้องควบคุมโดยเร่งด่วน
ก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม
เช่นเดียวกับภาพรวมในระดับโลก ในประเทศไทย ภาคพลังงานเป็นส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ตัวเลขเป็นทางการล่าสุด ปี พ.ศ. 2543 ชี้ว่า ภาคพลังงานปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์มากถึงร้อยละ 69.6 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมร้อยละ 7.2 ขณะที่ภาคเกษตรและป่าไม้ปล่อยร้อยละ 19.2 และภาคของเสียอีกร้อยละ4.1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานเกิดจากการเผาไหม้ เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักเพื่อการผลิตพลังงาน ร้อยละ 41.7 สาขาขนส่งร้อยละ 28 และสาขาการผลิตอุตสาหกรรม และการก่อสร้างร้อยละ 19.3 ที่เหลือเป็นการใช้พลังงานในสาขาครัวเรือน และเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 4.2 และ 3.5 ตามลำดับ
เกษตรกรและชาวประมงรับกรรม คนกับป่ากลายเป็นแพะรับบาป
แม้ว่าภาคการเกษตรจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อย แต่ก็เป็นภาคที่มีความสำคัญในการผลิตอาหารและยังเป็นภาคได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากสภาพการแปรปรวนของภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม แบบแผนการตกของฝนเปลี่ยนแปลง ปริมาณความชื้นในดินลดลง และอุณหภูมิเปลี่ยน ส่งผลต่อการติดดอกออกผลของพืช ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ชาวประมงก็มีปัญหาการกัดเซาะพังทลายของชายฝั่ง และอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อปริมาณที่จับได้ลดลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้หากจะพิจารณาว่าใครเป็นจำเลยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร จำเป็นต้องแยกแยะระหว่างเกษตรกรรายย่อย การเกษตรขนาดเล็ก กับเกษตรและปศุสัตว์ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ที่เป็นสาเหตุของการปล่อยจากการจัดการมูลสัตว์และการใช้เคมีการเกษตรอย่างเข้มข้น
ยิ่งไปกว่านั้นภาคป่าไม้กลับตกเป็นเป้าหมายมากที่สุดและถูกจับจ้องในฐานะที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการขับไล่คนพื้นเมืองออกจากป่า และชนเผ่าที่อาศัยในเขตป่ามายาวนานกลายเป็นแพะรับบาปเป็นจำเลยในคดีโลกร้อนทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซจำนวนมหาศาลแต่อย่างใด
ความลับในเมืองใหญ่
จากสถิติในปี 2548 พบว่ากรุงเทพมหานครมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 43 ล้านตัน เทียบได้กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และในปี 2551 คนกรุงเทพฯ 1 คน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 7.1 ล้านตัน/ปี มีสาเหตุจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ใช้พลังงานมหาศาล โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง และการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สำคัญ ในแต่ละวัน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยความเผลอเรอ และไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมาก เช่น การเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การรับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน และใช้พลังงานมาก ฯลฯ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเริ่มได้จากการคำนวณคาร์บอนฟูตพริ้นท์ ของแต่ละบุคคล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปจนถึงการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง
คาร์บอนเครดิต
ดี? งาม? จริง? ลวง?
ขณะนี้ นักล็อบบี้ของบรรษัทขนาดใหญ่กำลังผลักดันให้การเจรจาลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรมุ่งเน้นไปที่การกักเก็บคาร์บอน การดูดกลับและการค้าขายคาร์บอนเพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศด้อยพัฒนาและยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นเดิม ทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อสร้างสวนป่าปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งแนวทางนี้จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืน!
การแก้ปัญหาที่ถูกต้องจึงน่าจะเริ่มที่การกดดันประเทศพัฒนาแล้วให้ยอมรับและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนเมือง ปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาพลังงานสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน และการจัดการพลังงานในระดับชุมชน ฯลฯ
เริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมของเราทุกคน