แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนต่อรัฐบาลในประเด็นโลกร้อน
30 พฤศจิกายน 2553
โลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งขณะนี้ การประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่16 ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกกำลังเริ่มต้นขึ้น ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย เครือข่ายประชาชนต้องการให้ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากในประเทศของเรา และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดกลไกการตั้งรับปรับตัวสำหรับผู้ที่จะได้รับหรือได้รับผลกระทบจากโลกร้อนแล้ว ภัยแล้งและอุทกภัยที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยประสบในปีนี้ เป็นหลักฐานว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รอต่อไปอีกไม่ได้!
จากการศึกษาร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2562 ในรายละเอียดแล้ว เครือข่ายประชาชนมีข้อสรุปตรงกันว่า นอกจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการยกร่างจะถูกละเลยแล้ว เนื้อหาของตัวร่างยังมีปัญหาอย่างยิ่ง โดยมิใช่เป็นความบกพร่องในรายละเอียดเท่านั้นและเป็นปัญหาในระดับทิศทางและโครงสร้างของแผน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขโดยการปรับแต่งหรือเพิ่มเติมเฉพาะส่วนได้
เครือข่ายประชาชนจึงได้มีข้อเรียกร้องร่วมกันส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้มีบัญชาการยกร่างแผนแม่บทขึ้นใหม่ ด้วยกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะนี้ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้วเครือข่ายประชาชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในทันที
เครือข่ายประชาชนขอประกาศจุดยืนต่อรัฐบาลและสาธารณะว่า จะติดตามนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไปอย่างใกล้ชิดและไม่ลดละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทบทวนกระบวนการยกร่างแผนแม่บทฯ ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนขอยืนยันหลักความเป็นธรรมในการลดผลกระทบและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแผนแม่บทฯ และแนวนโยบายรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยงข้อง จะต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการดังต่อไปนี้
1.ยึดหลักที่ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไข โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางสภาพเศรษฐกิจและศักยภาพในการปรับตัวของประชากร
2.ประเทศไทยจะต้องตั้งเป้าหมายในการควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและมีสภาพบังคับภายในรัฐ ทั้งนี้ ภาคการผลิตพลังงานและภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องได้รับการปฏิรูปและควบคุมการขยายตัวอย่างจริงจัง โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเป็นธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
3.ปรับแผนพัฒนาพลังงานให้เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุด หยุดการใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นตัวการสำคัญของโลกร้อน และไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งไม่มีความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งปฏิรูปให้มีการเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียมในสังคม รวมถึงส่งเสริมการกระจายการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน
4.สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของประเทศ ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒณธรรมของชุมชน เพราะเป็นทางออกสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวในภาคเกษตรอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
5.รัฐจะต้องยอมรับสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในการอาศัยและจัดการทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ชัดเจน ก่อนจะมีการรับมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับภาคป่าไม้มาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
6. แนวทางการพัฒนาของรัฐในปัจจุบันกำลังส่งผลในเชิงลบต่อความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน ดังนั้นรัฐจะต้องสนับสนุนและสร้างกลไกการตั้งรับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที ให้กับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ชุมชนประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก และเกษตรกรรายย่อย
เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมลงชื่อดังต่อไปนี้
1. สมัชชาคนจน
2. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
3. เครือข่ายทรัพยากรภาคเหนือล่าง
4. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง
5. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
6. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
7. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
8. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน.)
10. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ ลุ่มน้ำเซิน
11. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
12. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก (เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องเรดด์)
13. สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
14. เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
15. เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
16. เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ (นครศรีธรรมราช)
17. กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
18. กลุ่มปะทิวรักษ์ถิ่น จังหวัดชุมพร
19. เครือข่ายรักษ์ละแม จังหวัดชุมพร
20. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
21. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา
22. กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
23. กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
24. กลุ่มประมงเรือเล็กอ่าวขั้นกระได ต.อ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
25. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์
26. กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
27. กลุ่มอนุรักษ์ห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์
28. กลุ่มรักท้องถิ่นกุยบุรี-สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
29. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
30. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
31. คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม