Skip to main content
Thai Climate Justice Working Group logo

Thai Climate Justice Working Group

  • หน้าแรก
  • ปัญหา
  • ทางออก
  • ประเด็น
  • บอกต่อ
  • คลังข้อมูล
  • กิจกรรม
  • เกี่ยวกับเรา

คลังข้อมูล

ข้อวิพากษ์ของภาคประชาสังคมต่อ “แผนแม่บทโลกร้อน” ของ สผ.

Submitted by webmaster on Wed, 08/25/2010 - 15:47

เอกสารสรุปประเด็น

ข้อวิพากษ์ของภาคประชาสังคมต่อ “แผนแม่บทโลกร้อน” ของ สผ.

โดย คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice)

สุราษฎร์ธานี, 25 สิงหาคม 2553

ประเด็นสำคัญโดยสรุป

  • วิธีการและกระบวนการจัดทำแผนฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง แต่จะกลายเป็นพันธะผูกพันงบประมาณของชาติถึงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า
  • การดำเนินการตามแผนฯ ที่จัดทำขึ้นนี้จะไม่ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะไม่ถูกจัดการอย่างจริงจัง ถือเป็นการไม่ตั้งใจแก้ปัญหาให้ถูกจุด
  • แผนฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนผู้อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวที่จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เกษตรกรรายย่อย ประมงรายย่อย และประชาชนที่อยู่ในป่า เป็นต้น
  • ทั้งนี้ดูเหมือนว่า กลไกทางตลาด (market-based mechanisms) โดยความสมัครใจ เช่น กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) และ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) ซึ่งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ถือเป็นเครื่องมือหลักที่ถูกใช้เพื่อผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการตั้งเป้ามหายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนแต่อย่างใด จึงเป็นที่กังขาว่าแผนแม่บทฯ ฉบับนี้จะนำไปสู่การช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่

 

ที่มาของแผนแม่บทฯ และการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

“แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2562” เป็นผลต่อเนื่องมาจากการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551 - 2555 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำ และได้มอบหมายให้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ทำการศึกษาและร่างฯ แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2552

ร่างแผนแม่บทฯ ฉบับนี้จะกลายเป็นพันธะผูกพันการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานต่างๆ ไปถึง10 ปี และมีงบประมาณเบื้องต้นรวม 9,942 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดทำแผนฯ ไม่มีการเปิดเผยให้ภาคประชาชนได้ร่วมแสดงความเห็น โดยเฉพาะประชาชนผู้ที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาโลกร้อน และภายหลังจากที่มีการเปิดเผยร่างแล้วก็ยังไม่เปิดให้ประชนชนทั่วไปเข้าร่วมเสนอความเห็น จนกระทั่ง สผ. ถูกผลักดันจากภาคประชาชนให้จัดเวทีรับฟังความเห็น จึงมีการจัดไปแล้วที่ภาคเหนือ (เชียงใหม่ 14 พ.ค.53) และภาคอีสาน (ขอนแก่น 28 มิ.ย.53) และกำลังจัดเวทีรับฟังฯ ที่ภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี) ในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 นี้

จากการศึกษาเอกสารร่างแผนแม่บทฯ (เอกสารเผยแพร่ - Dissemination Publication) คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมพบว่า โดยภาพรวมแล้ว แผนแม่บทฯ ฉบับนี้จะไม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนดังที่องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนได้ทำงานต่อสู้เรียกร้องมาอย่างแท้จริง โครงการต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทฯ เหมือนเป็นการนำโครงการที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานต่างๆ มาใส่เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน จึงเป็นคำถามต่อความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนของหน่วยงานต่างๆ   ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตุว่าการดำเนินการตามแผนฯ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนอีกด้วย ดังได้สรุปประเด็นสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ตามความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายภาคประชาชน ดังนี้

 

ภาคอุตสาหกรรม/พลังงาน

ตัวเลขประเมินสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยแบ่งตามภาคการผลิต (พ.ศ. 2548) ชี้ชัดว่าภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม เป็นเป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (73%) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน) อย่างไรก็ตาม ในแผนแม่บทฯ ไม่มีการกล่าวถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์แนวทางส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งยังคงเดินหน้าในการส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักซึ่งก่อมลพิษสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เช่นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ  

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม  แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมหนักไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเละตะวันตก และ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และไม่มีการกล่าวถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานของประเทศ (เช่น ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ยังคงถูกวางเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต) แสดงถึงความไม่จริงจังของประเทศไทยในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวโดยสรุปคือแผนแม่บทฯ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่จริงจังในการหยุดภาคอุตสาหกรรมและพลังงานที่เป็นต้นตอของโลกร้อน

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นน่าเป็นห่วงที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการกับปัญหาโลกร้อนในภาคอุตสาหกรรมและพลังงานซึ่งจะไปก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น (1) มีความพยายามผลักดันการแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ซึ่งเทคโนโลยีแปลงขยะเป็นพลังงานส่วนใหญ่ก็คือเตาเผาขยะที่ถือเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่ก่อสารพิษและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อม  (2) ทั้งนี้ ยังต้องจับตาดูว่าอาจมีการผลักโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เข้าเป็นหนึ่งในทางเลือกการผลิตไฟฟ้าที่คาร์บอนต่ำหรือไม่ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิเคลียร์อาจเป็นเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลก็จริง แต่มีประเด็นด้านความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม และการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งจำต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

ภาคเกษตร

ภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นภาคที่มีความอ่อนไหวและจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพผลผลิตของพืชชนิดต่างๆ และวิถีการเพราะปลูกเนื่องจาก “ระบบเกษตรกรรมของไทยเป็นระบบที่ต้องพึ่งพิงลมฟ้าอากาศเป็นหลัก” เพราะ “พื้นที่ชลประทานของไทยยังจำกัดอยู่เพียงหนึ่งในห้าของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด”

ในขณะเดียวกัน ประมาณว่าภาคเกษตรกรรมมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 25 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2548 ภาคเกษตรกรรมมีส่วนในการปล่อยก๊าซมีเทนจากการทำนาข้าวในสภาพขังน้ำและของเสียจากปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขาดการจัดการอย่างเหมาะสม การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากปุ๋ยในโตรเจนและอาหารสัตว์ที่เหลือตกค้าง และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อย่างไรก็ดี การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคเกษตรกรรมถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการผลิตพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน ภาคเกษตรยังทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมาเก็บไว้ในชีวมวล (ต้นไม้ ดิน ซากสัตว์) ทั้งนี้ประเมินว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ที่เกิดจากการเผาวัสดุการเกษตรจะถูกดูดซับกลับเข้าไปในชีวมวลอีกครั้งเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทฯ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจำกัด ไม่ครบถ้วน อย่างน้อยที่สุดในประเด็นดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้มองที่เกษตรกรรายย่อย แต่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวของภาคเกษตรในเชิงพาณิชย์และเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก - แผนแม่บทฯ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรในฐานะที่เป็นเพียงสาขาที่ผลิตสินค้าส่งออกไม่กี่ชนิด  ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และ ข้าวโพด  แต่ในความเป็นจริง ภาคเกษตรมีความหมายและขอบข่ายมากกว่านั้น เช่น เป็นแหล่งจ้างงานของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก เป็นแหล่งสะสมรวบรวมองค์ความรู้ วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เป็นแหล่งอาหารที่คนในประเทศเข้าถึงได้  เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น  ซึ่งความสำคัญของภาคเกษตรเหล่านี้ที่ไม่ได้กล่าวถึงมีความเกี่ยวพันและมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก
  • แผนแม่บทฯ ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรโดยเฉพาะในระดับจุลภาคค่อนข้างมาก การดำเนินโครงการต่างๆที่มีแนวโน้มแก้ไขพฤติกรรมเกษตรกรเป็นรายปัจเจกบุคคล  ทำให้มีแนวโน้มเน้นไปที่การจัดการกับกลุ่มคนที่ขาดอำนาจการต่อรองมากกว่าคนกลุ่มที่เป็นต้นเหตุของปัญหาจริงๆ  (ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างทำนองเดียวกันได้จากกรณีการฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายเรื่องโลกร้อนกับเกษตรกรรายย่อย  แต่ไม่ฟ้องร้องกลุ่มทุนอุตสาหกรรม)  การแก้ปัญหาควรจะให้ความสำคัญกับนโยบายมหภาคที่จะช่วยแก้ไขปัญหาบางประการในภาคเกษตร เช่น การปรับเปลี่ยนเพื่อลด ละ เลิกปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์
  • แผนแม่บทไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาในภาคเกษตรที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเพียงพอ  ทำให้ไม่ทราบแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซในประเทศไทย และไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างการปล่อยก๊าซในภาคเกษตรเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อความจำเป็นของเกษตรกรรายย่อย กับการปล่อยก๊าซเพื่อแสวงหากำไรของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร  ซึ่งกลุ่มหลังควรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ในมิติการปรับตัว แผนแม่บทฯ ให้ความสำคัญเพียงมิติการสร้างองค์ความรู้ในระดับมหภาคมาก  แต่ไม่ได้พูดถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างของการปรับตัวในระดับมหภาค เช่น การป้องกันไม่ให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิตเ พราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวและการแก้ปัญหาโลกร้อนของเกษตรกรรายย่อยทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด  ในระดับจุลภาคเองก็ขาดการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเพียงพอ  ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเมื่อพิจารณาว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะตัว และการใช้มาตรการเดียวกันที่สั่งการมาจากส่วนกลางมีแนวโน้มจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
  • กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหารโดยพิจารณาเพียงมิติความพอเพียงของอาหารโดยเฉพาะในพืชส่งออก  ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารในความหมายที่แคบมาก  และไม่ได้รับประกันการเข้าถึงอาหารของประชาชน
  • แม้จะพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้พูดถึงการเคารพสิทธิของเกษตรกรและชุมชน  เช่น สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) เพื่อช่วยด้านการปรับตัวในแง่ของการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งเปิดช่องให้เกิดการเข้ามาผูกขาดการจัดการเมล็ดพันธ์โดยบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่
  • การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างเพียงพอในแผนแม่บทฯ แม้ว่าการวิเคราะห์ปัญหาในข้างต้นจะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล (จากเดิมที่เคยถือปฏิบัติ) ความเปลี่ยนแปลงในปริมาณและความถี่ของฝน และสภาพภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่แผนปฏิบัติการมิได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับวิถีการผลิตของเกษตรกรรายย่อย

 

ภาคป่าไม้

สาระสำคัญของภาคป่าไม้ ในแผนแม่บทฯ นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ยุทธศาสตร์การปรับตัว (Adaptation) และยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มแหล่งเก็บกักก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) เพราะเหตุภาคป่าไม้เป็นทั้งทรัพยากรที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็มีส่วนทั้งในการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนในเวลาเดียวกัน ข้อพากษ์โดยภาพรวมต่อแผนแม่บทฯ ที่เกี่ยวข้องกับภาคป่าไม้ สรุปได้ดังนี้

  • แผนแม่บทฯ พิจารณาคุณค่าของป่าไม้เพียงแหล่งเก็บกักคาร์บอนเพื่อค้าขายในตลาดมากกว่าการให้ความสำคัญกับคุณค่าด้านนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และฐานทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในด้านที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • แนวทางและแผนงานในแผนแม่บทฯ มุ่งไปที่บทบาทของหน่วยงานรัฐ ด้วยการยึดตามกฎหมายป่าไม้เป็นหลัก ขณะที่ประชาชนไม่มีสิทธิและไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการปกป้องรักษาป่าไม้
  • แผนงานบางโครงการอาจซ้ำเติมปัญหาความขัดยังกับประชาชนที่อยู่ในเขตป่า เช่น โครงการศึกษาผลกรทบจากการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ, โครงการพัฒนาระบบการตรวจสอบและติดตามการปป.ปริมาณการดูดซับคาร์บอนจากการสูญเสียพื้นที่ป่าในอุทยานทั่วประเทศ, โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) เป็นต้น

การมุ่งหวังให้แผนงานด้านป่าไม้ที่ปราศจากการสะท้อนสภาพปัญหาของรักษาและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่แท้จริง บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนี้ คงยากที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ได้ไม่ว่าจะในด้านการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม 

 

ภาคประมง

สาระสำคัญของภาคประมง แทบจะไม่พบอยู่ในแผนแม่บทฉบับนี้เลยทั้งที่ประมงรายย่อยเป้นกลุ่มที่อ่อนไหวและเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ก็เน้นให้ความสำคัญกับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น ในขณะที่แผนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรในด้านการประมง ก็เป็นเพียงงานศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำและทรัพยากรประมง เพื่อให้ทราบผลกระทบจากโลกร้อน ทั้งนี้ แผนงานที่กำหนดอยู่ในทั้ง 3 แผนยุทธศาสตร์มิได้มีโครงการที่จะช่วยประชาชนในภาคประมง โดยเฉพาะประมงรายย่อย อย่างชัดเจน แม้แต่ในแผนงานการเตรียมความพร้อมและการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปรับตัว ก็ไม่มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงเลย จึงมีข้อวิพากษ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงดังนี้

  • ประมงน้ำจืด และประมงทะเลมิได้กล่าวได้ไว้อย่างมีนัยสำคัญในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง ด้านผลกระทบ มาตรการบรรเทาผลกระทบ และการเสริมสร้างศักยภาพในการตั้งรับปรับตัว ทำให้แผนโครงการขาดความชัดเจน และไม่มีรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมง
  • การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการประมง จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยคุกคามทรัพยากรประมงและชายฝั่งทะเลย รวมถึงชาวประมงพื้นบ้าน เช่น การใช้เครื่องมือประมงขนาดใหญ่ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ภาคใต้

 

ติดต่อคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม

ประเด็นเกษตร: กิ่งกร  นรินทรกุล ณ อยุทธยา, มูลนิธิชีววิถี, 081-530-8339

ประเด็นอุตสาหกรรม/พลังงาน: เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, 081-611-7473

ประเด็นกลไกทางตลาด: จักรชัย โฉมทองดี, Focus on the Global South, 084-655-0666

ประเด็นป่าไม้และปะมง: พรพนา ก๊วยเจริญ, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 081-692-8701

 

Attachments: 

ข้อวิพากษ์ของภาคประชาสังคมต่อ “แผนแม่บทโลกร้อน” ของ สผ.

ป้ายคำนิยม

coal forest carbon National Master Plan PDP REDD+ การปรับตัว ถ่านหิน ป่าไม้ พลังงาน ภาคประชาชน เกษตรกรรม แผนแม่บทแห่งชาติ
More

Thai Climate Justice Working Group
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม