การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ด้วยการสร้างโลกที่เป็นธรรม
โดย คณะทำงานลดโลกร้อนด้วยโลกที่เป็นธรรม
ที่การประชุมนานาชาติ “ภูมิอากาศที่เป็นธรรม”
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ของทั่วโลกในเวลานี้ทำให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการไทยได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำไปสู่การจัดตั้ง “คณะทำงานลดโลกร้อนด้วยโลกที่เป็นธรรม” Thai Working Group for Climate Justice เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เป็นการรวมตัวกันบนพื้นฐานการมองปัญหาว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นผลมาจากความไม่เป็นธรรมในการพัฒนา และการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความยากจน ช่องว่างระหว่างรายได้คนรวยคนจนกว้างขึ้น เกษตรกรชาวนา ชาวไร่ เป็นหนี้สิน ต้องสูญเสียที่ดิน ชาวประมงสูญเสียอาชีพ คนจนเมืองเพิ่มจำนวนขึ้น มาแออัดแย่งกันหาที่อยู่กินในเมืองใหญ่ และเมื่อเกิดปัญหาโลกร้อน คนกลุ่มนี้เองที่ประสบปัญหาหนักหน่วงที่สุด
ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก แต่การแก้ปัญหาโลกร้อนได้กลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่เช่นเดิม ขณะที่ผลกระทบ หรือภาระตกแก่กลุ่มคนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมจากการพัฒนามาโดยตลอดนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยเรามองเห็นว่าการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาพลังงานต่อไปข้างหน้ายังดำเนินไปในทิศทางเดิมๆ ซึ่งจะก่อปัญหาโลกร้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
1) แผนการพัฒนาพลังงาน (PDP) ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติอีกกว่า 30 โรง ซํ้ายังอ้างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการการผลักดันโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง แผนดังกล่าวจะส่งผลกระทบแก่วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นรอบโรงไฟฟ้าอย่างมหาศาล และจะทำให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมเพิ่มอีก 67 % ขณะที่ไม่ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะเป็นทางออกของโลกหลังยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล
2) การพัฒนาพืชพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล หรือไบโอดีเซล ที่เป็นการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินการ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกในระดับชุมชน ท้องถิ่น จะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรผู้ผลิตซึ่งต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพิ่มภาระหนี้สินซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียที่ดินเพิ่มอีกในอนาคตอันใกล้ และเมื่อพืชผลการเกษตรมีราคาสูงขึ้นก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันในการแย่งชิงที่ดินจากเกษตรกร จะยิ่งนำไปสู่การล่มสลายของเกษตรกรขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว
3) ทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักเพิ่มมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเปโตรเคมี และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น และปล่อยมลภาวะสูงมาก ยังตอบคำถามไม่ชัดเจนว่า สร้างการจ้างงานได้มากน้อยเพียงไร และเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่คนกลุ่มใด ในขณะที่ภาระต้นทุนด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะตกอยู่แก่สังคมไทยโดยรวม
การพัฒนาเหล่านี้จะยิ่งสร้างให้เกิดปัญหาแก่คนยากจนหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น เช่นและยิ่งเพิ่มความร้อนให้แก่โลกต่อไปจากการที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเองก็ไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
คณะทำงาน ฯ จึงมีข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
- ต้องปรับแผนพัฒนาพลังงานโดยเร่งด่วน ให้มุ่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง และต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 30 ก่อนที่จะต้องลดลงต่อไป จากแผนเดิมที่จะส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มถึงกว่าร้อยละ 70
- ต้องทบทวนยกเลิกการส่งเสริมอุตสาหกรรมสกปรกใช้พลังงานเข้มข้นที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย หรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ
- ให้มีการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในระดับชุมชนอย่างจริงจัง
- ต้องมีมาตรการและกลไกในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเกษตรกรรายย่อย
- ให้มีการปฏิรูปภาษี และการคลังของประเทศเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรม
- เราไม่สนับสนุนกลไกการพัฒนาที่สะอาดที่เป็นการให้สิทธิแก่อุตสาหกรรมสกปรกที่ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยได้ต่อไป โดยหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทาง และหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังเชื้อเพลิงฟอสซิล
- ให้มีการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่พยายามปกป้องรักษาฐานการดำรงชีวิต ฐานทรัพยากร ที่เป็นการรักษาความสมดุลย์ทางสิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศของโลกอยู่แล้ว โดยเคารพสิทธิของชุมชน
- สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรกร ชาวประมง ชนเผ่าต่าง ๆ ผู้หญิง ผู้ใช้แรงงาน และคนจนเมืองในกระบวนการวางแผน และดำเนินการปรับตัวในสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวน
เรามีโลกเพียงใบเดียว และโลกใบนี้กำลังตกอยู่ในวิกฤต ความหายนะที่อาจใหญ่หลวงเกินการคาดหมายกำลังใกล้เข้ามา มีเพียงหนทางการทบทวนแนวคิดการพัฒนาที่เป็นสาเหตุหลักของวิกฤต และกำหนดหนทางเดิน หนทางการผลิต การบริโภค ของเราใหม่เท่านั้นที่จะพาเรารอดพ้นจากหายนะนี้ได้