สถานการณ์โลกร้อน : ในมุมการเมืองและความเป็นธรรม[1]
โดย: ลาร์รี่ ลอห์แมน จากองค์กร Corner House ประเทศอังกฤษ
ตุลาคม 2552
สถานการณ์โลกร้อนเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองและความเป็นธรรมอย่างไร อยากจะขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ คำถามคือว่า ปัญหาโลกร้อนเกิดจากอะไร เรื่องนี้อาจจะอธิบายยากสักหน่อย แต่เอาปัญหาหลักๆ ของโลกร้อนก็พอ นั่นคือจริงๆ แล้ว ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ กระบวนการที่เราขุดเจาะถ่านหิน เจาะน้ำมันขึ้นมาและเอามาเผาเป็นพลังงาน ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่อากาศ
ตามระบบที่ธรรมชาติมีอยู่นั้น อากาศ ทะเล-มหาสมุทร ต้นไม้หรือพืชต่างๆ จะมีการหมุนเวียนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กันไปมาระหว่างภายในทั้งสามระบบ การเผาถ่านหิน การเผาน้ำมัน ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปล่อยออกไปสู่อากาศ บางทีก็เข้าไปอยู่ในต้นไม้เพราะต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใช้ประโยชน์ แต่เมื่อเราเผาต้นไม้ ก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในต้นไม้ออกมาสู่อากาศ จากอากาศก็ลงไปสู่ทะเล เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นการหมุนเวียนตามธรรมชาติอันนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแค่นั้นเอง
แต่ปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นเพราะว่า มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากเกินไปหรือมีก๊าซตัวนี้เกิดขึ้นในระบบธรรมชาติที่หมุนเวียนกันอยู่โดยเฉพาะในอากาศมากเกินไป พออากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นๆ ก็ทำให้โลกร้อน นี่คือปัญหา บางคนบอกว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา ก็ปลูกต้นไม้เพิ่มแล้ว ต้นไม้ก็จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดลงไปเอง ส่วนในทะเลก็มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนกัน มีคนบอกว่าแล้วสารคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะถูกดูดซับอยู่ในทะเลได้ด้วย ซึ่งก็จริง
แต่ว่า ระบบที่หมุนเวียนกันอยู่ในอากาศข้างบนนั้นไม่สามารถที่จะรับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาถ่านหินและน้ำมันได้ทั้งหมด เพราะว่าการเผาถ่านหินและน้ำมันทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวมากมายมหาศาล ยิ่งในปัจจุบันแนวโน้มการใช้ถ่านหินและน้ำมันก็ยังไม่ได้ลดลง จึงทำให้มีการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ปัญหาโลกร้อนมากเรื่อยๆ
ที่จริงแล้วถ่านหินและน้ำมันจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ถ้าเทียบกับความสามารถของระบบอากาศและระบบทะเลแล้ว ทั้งอากาศและทะเลจะไม่สามารถรองรับก๊าซคาร์บอนฯ จากเชื้อเพลิงเหล่านี้ได้หมด ปัญหาก็คือว่าพอเราขุดถ่านหินกับน้ำมันมาใช้แล้ว ก็จะกลายเป็นการสะสมก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ขึ้นเรื่อยๆ ในระบบอากาศข้างบน หากเราขุดน้ำมันและถ่านหินขึ้นมาหมด จะทำให้โลกร้อนมากจนขนาดที่ว่ามนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตต่างๆ คงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้
สรุปง่ายๆ ก็คือเราไม่สามารถที่จะขุดถ่านหินได้หมด เราจะต้องเก็บเอาใว้ใต้ดิน นี่เป็นข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ที่จริงเป็นข้อสรุปที่ง่ายๆ แต่บางทีคนก็ไม่อยากจะยอมรับ เพราะอยากจะขุดถ่านหินและน้ำมันมาใช้
การสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจำนวนมาก ๆ ที่เกิดจากการขุดถ่านหินและน้ำมันขึ้นมาใช้เรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่ทำให้โลกร้อนเท่านั้น แต่ก๊าซนี้ยังจะสะสมในทะเลด้วย ทำให้น้ำทะเลมีฤทธิ์เป็นกรด ส่งผลร้ายต่อประการังและต่อชาวประมงอย่างมาก ซึ่งถ้าสรุปได้อย่างนี้ทางออกที่มีอยู่มีทางเดียวก็คือ เราจะต้องหยุดการขุดน้ำมันและหยุดการขุดถ่านหินขึ้นมาใช้ ไม่มีทางออกทางอื่นแล้ว ถ่านหินหรือน้ำมันที่อยู่ใต้ดินก็ควรจะต้องให้อยู่ใต้ดินต่อไป ซึ่งข้อสรุปนี้เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับผู้นำทุกประเทศที่ต้องการสร้างสังคมอุตสาหกรรมที่จะยอมรับความจริงตามทางหลักวิทยาศาสตร์อันนี้
สำหรับความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นธรรม มีข้อสังเกต 2 ข้อ ข้อแรกคือ เราไม่สามารถที่จะขุดถ่านหินและน้ำมันอีกต่อไป ข้อสรุปนี้ตรงกับความต้องการของชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ที่ต่อต้านการขุดถ่านหินและน้ำมัน เช่น ชาวบ้านที่สหรัฐฯ ที่ต่อต้านการขุดถ่านหินในพื้นที่ของพวกเขา หรือชาวพื้นเมืองที่ประเทศเอกวาดอร์ก็ไม่ต้องการให้บริษัทน้ำมันเข้าไปในพื้นที่ของพวกเขา เพราะว่าไปทำลายป่า ทำลายชีวิต ทำลายสุขภาพและทำลายทุกอย่างของพวกเขา พวกเขาจึงมีข้อเสนอถึงประธานาธิบดีเอควาดอร์ว่า ขอให้เก็บน้ำมันปริมาณมหาศาลเอาใว้ใต้ดินดีกว่า และหาทางสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากทรัพยากรอย่างอื่น เรื่องนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงอันมากในประเทศเอควาดอร์
ข้อที่สองคือ ต้องตั้งคำถามว่า ใครคือคนที่ต้องการขุดเอาน้ำมันและถ่านหินขึ้นมาเผา เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนต้องการใช้น้ำมันและถ่านหินเยอะๆ แต่มีเพียงเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลพวกนี้อย่างโลภมาก เมื่อเป็นอย่างนี้คนกลุ่มนั้นก็ควรจะต้องเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากโลกร้อนเพราะพวกเขาคือผู้ที่ขุดและใช้เชื้อเพลิงนั้น ประเทศที่ใช้เยอะมากๆ คือ สหรัฐฯ ถ้าเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น ประเทศแอฟริกาซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยมาก ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาก ซึ่งใช้มากกว่าทวีปอเมริกาใต้ทั้งทวีป และถ้าดูเป็นรายประเทศ ก็จะเห็นว่าประเทศอินเดียก็กำลังใช้มากขึ้นด้วย แต่เนื่องจากประเทศอินเดียมีประชากรมากถึง 1,000 ล้านคน ถ้าเปรียบเทียบอัตราส่วนจำนวนประชากร ก็จะเห็นว่าคนอินเดียใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่มากเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วความไม่เท่าเทียมกันในโลกในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือถ่านหินต่อคนก็ยิ่งแย่กว่านี้อีก แล้วใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้
ผมอยากสรุปให้เห็นว่า บางทีทางแก้ปัญหากลับยิ่งมีปัญหา หรือยิ่งสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากกว่าตัวปัญหาที่มีอยู่เสียเอง เพราะว่าการแก้ปัญหาที่บางรัฐบาลใช้ยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม บางทีก็ทำให้เกิดปัญหาที่แย่ยิ่งกว่าปัญหาโลกร้อนเสียอีก ตอนนี้รัฐบาลต่าง ๆ มุ่งแก้ปัญหาโลกร้อนตามกระแสหลักโดยไม่พูดถึงปัญหาของเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่พูดถึงปัญหาของถ่านหินและน้ำมัน แต่พยายามจะหาวิธีการที่จะสร้างทางเลือกด้วยการตลาดใหม่ๆ ที่ซับซ้อนจนชาวบ้านทั่วไปตามไม่ทันและไม่เข้าใจ ทำให้ชวนสงสัยว่า คนเหล่านี้ต้องการแก้ปัญหาจริง ๆ หรือต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากวิกฤตการณ์โลกร้อนกันแน่ !
ผมอยากจะเล่าคร่าวๆ ถึงความเป็นมาของวิธีการแก้ปัญหาตามแบบกระแสหลักของโลก นั่นคือ ความคิดในการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้มาตรการการตลาดเข้ามาใช้ ซึ่งคิดขึ้นมาโดยนักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์จากเมืองชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกา พวกนี้มีวิธีคิดว่า ปัญหาโลกร้อนจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการค้าคาร์บอน แล้วก็พยายามเสนอวิธีการนี้ให้รัฐบาลและนักธุรกิจ ซึ่งก็ได้ผลเพราะว่าบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะพวกบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานชอบทางออกนี้กันมาก เพราะเขารู้สึกและมองเห็นหนทางที่จะทำกำไรจากวิกฤตการณ์โลกร้อนด้วย ถ้าสร้างตลาดการค้าคาร์บอนขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็น่าเป็นห่วงว่า วิธีคิดที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยมาตรการทางการตลาด ซึ่งก็คือการค้าหรือการซื้อขายคาร์บอนได้เข้าไปอยู่ในพิธีสารเกียวโตแล้วด้วย และเข้าไปอยู่ในความคิดของรัฐบาลยุโรปที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยมาตรการตลาดแบบนี้
คนหนึ่งที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการแก้โลกร้อนแบบนี้คือ นายเค็น นิวคามบ์ เขาได้ลาออกจากหัวหน้าแผนกการค้าคาร์บอนของธนาคารโลกและย้ายไปอยู่ธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งคือ “Climate Change Capital” (ทุนการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) หลังจากนั้นก็ย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกการค้าคาร์บอนของธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อ โกลด์แมนซากส์ (Goldman Sachs) และสร้างบริษัทของตัวเองขึ้นมาค้าขายคาร์บอน “C-Quest Capital” ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้กำไรจากการค้านี้อย่างมาก
กล่าวง่ายๆ ก็คือว่า ตลาดนี้เติบโตขึ้นๆ และมีโอกาสที่นักธุรกิจจะเข้าไปหาผลประโยชน์จากการขยายตัวของตลาดคาร์บอนซึ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เฉพาะปีนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่านับมูลค่าเป็นพันล้านดอลล่าร์ ซึ่งทำให้นักธุรกิจทั้งหลาย ธนาคารทั้งหลายต่างตื่นเต้นกันใหญ่ เมื่อปีที่แล้วผมได้เข้าไปฟังการประชุมที่เกี่ยวข้องกับผลกำไรที่ได้จากการค้าคาร์บอน ซึ่งนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับตลาดนี้ มักจะเป็นธนาคารเอกชน หรือว่าผู้ที่ซื้อขายสินค้าทั่วไปของตลาดหุ้นวอลสตรีทในอเมริกา พวกนี้จะเป็นคนที่สนใจมากที่สุด นี่เป็นตัวอย่างของบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ตลาดซื้อขายคาร์บอนที่เข้าไปอยู่ในพิธีสารเกียวโตและนโยบายของรัฐบาลยุโรปนั้นมีกลไกอะไรบ้าง
กลไกหนึ่งคือ ที่เรียกว่าคาร์บอนออฟเซ็ตหรือการชดเชยการปล่อยคาร์บอน และกลไกพัฒนาที่สะอาด เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดนี้มันเต็มไปด้วยคำศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษที่เข้าใจยากมาก แต่พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนคือว่า คนพวกนี้มีความคิดทางการตลาดและการค้า สมมุติว่าเรามีปัญหาโลกร้อน ทางออกคือเราจะต้องลดการปล่อยมลพิษ เราต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ว่าพวกที่สร้างกลไกทางการตลาด ทั้งนักธุรกิจและรัฐบาลหลายรัฐบาล กลับมองว่าการลดการปล่อยมลพิษและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นเรื่องยากและกระทบผลกำไรของพวกเขาอย่างมาก ไม่น่าทำ เพราะทั้งยากและแพงเกินไป น่าจะมีทางออกอื่น น่าจะยืดหยุ่นได้ เลยมีข้อเสนอว่าเราจะปล่อยให้บริษัททั้งหลายยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกต่อไปเรื่อยๆ แต่ว่าเขาจะต้องทำอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กับการให้ค่าตอบแทน เลยคิดออกมาว่า จะต้องสร้างโครงการต่างๆ ที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไม่ก็เป็นอะไรที่จะตอบแทนปัญหาเรื่องมลพิษ ตัวอย่างง่ายที่สุดคือการส่งเสริมปลูกป่า เพื่อมาทดแทนการลดการปล่อยมลพิษเป็นต้น แล้วก็อ้างได้ว่าต่อไปนี้จะขุดถ่านหินขุดน้ำมันและเผาเรื่อยๆ ไม่มีปัญหาครับ เพราะว่าพวกเขาจะปลูกต้นไม้ทดแทน ให้ต้นไม้นั้นดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด สบายมากไม่มีปัญหา บริษัทก็สบาย เราก็สบาย โลกก็ไม่ร้อน นี่คือความคิดของเขา
แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า เขาจะปลูกป่าบนที่ดินของใคร จะต้องเอาที่ดินของใครกันแน่มาปลูกป่า นี่เป็นข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองคือว่า ความสามารถของป่าไม่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ทั้งหมดที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม จะดูดได้หมดเราคงจะต้องปลูกป่าไม่ใช่แค่ปลูกไปทั่วโลก แต่จะต้องปลูกไปอีกสองโลก สามโลก ถึงจะดูดซับได้ เพราะฉะนั้น ก็มีปัญหาหลายอย่างกับความคิดนี้
สรุปง่ายๆ คือว่าเราจะสร้างอุตสาหกรรมที่ไหนก็ได้ จะเป็นแม่เมาะอีก 2-3 แห่งก็ได้ สร้างไปทั่วโลกก็ได้ เพราะว่าจะมีการปลูกป่า หรือการสร้างอื่นๆ ที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เหล่านี้เป็นความคิดของตลาดคาร์บอน !!
ผมอยากจะยกคำพูดของคนๆ หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เขาเป็น ส.ส สหรัฐฯ เขาสนับสนุนให้มีการใช้ถ่านหินต่อไป เขาพูดชัดเจน (เมื่อสองเดือนที่แล้ว) ว่า “การชดเชย (offset) คือความคิดที่ดีมาก เพราะโรงงานผลิตไฟฟ้าจะได้ใช้ถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องลดมลภาวะเอง แล้วยังปล่อยได้ต่อไปเรื่อยๆ สามารถเผาถ่านหินได้เรื่อยๆ” นี่เป็นคำพูดของเขา ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะ มลพิษของโรงงานทั้งหลายก็ไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาจะต้องสู้กับโรงงานเหล่านี้ไม่สิ้นสุด เขาบอกว่า “เรามีทางเลือก เราจะลงทุนเพื่อสร้างอนาคตที่ไม่ต้องใช้ถ่านหิน การปล่อยให้เผาถ่านหินไปเรื่อยๆ เป็นระบบการค้ามลพิษที่ไม่เป็นธรรม”
-----------------------------------
[1] เอกสารชุดนี้เรียบเรียงมาจากการนำเสนอของคุณลาร์รี ลอห์แมน จากเวทีสัมมนา “ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างเป็นธรรม” วันที่ 3-4 ตุลาคม 2552 ณ โรงเรียนวัดเบญจมพิตร กรุงเทพ จัดโดย คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาชนไทย