Skip to main content
Thai Climate Justice Working Group logo

Thai Climate Justice Working Group

  • หน้าแรก
  • ปัญหา
  • ทางออก
  • ประเด็น
  • บอกต่อ
  • คลังข้อมูล
  • กิจกรรม
  • เกี่ยวกับเรา

คลังข้อมูล

จากโคเปนเฮเกนถึงตัวเรา ความเสี่ยงและโอกาสของโลกที่ร้อนขึ้น

Submitted by webmaster on Mon, 11/04/2013 - 11:42

จากโคเปนเฮเกนถึงตัวเรา ความเสี่ยงและโอกาสของโลกที่ร้อนขึ้น

 

จักรชัย โฉมทองดี

สมาชิกคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม

26 กุมภาพันธ์ 2556

 

“โลกร้อน” หรือที่ใช้ชื่อเต็มว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ถือได้ว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประชาคมโลก จากข้อมูลจนถึงปัจจุบันคงจะไม่เกินไปนักหากจะสรุป ณ ที่นี้เลยว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เราได้ก่อขึ้นมาเอง

คงไม่จำเป็นจะต้องลงรายละเอียดมากนักว่าโลกร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร และโลกร้อนจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจในห้วงมากกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมาที่เน้นการเผาเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์หรือ “ฟอสซิล” และการผลาญทรัพยากรผิวดิน เช่น ป่าไม้ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้มีอันจะกินจำนวนมาก ล้วนส่งผลในการก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน และเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นก็ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความแห้งแล้ง นํ้าทะเลที่สูงขึ้น โรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ อีกมาก

ที่น่าแปลกคือ รู้ทั้งรู้ว่าปัญหานั้นใหญ่หลวงและรู้ด้วยว่าสาเหตุคืออะไร แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าจะหาความ “ตั้งใจจริง” ในอันจะแก้ปัญหาของเหล่าผู้มีอำนาจทั้งในประเทศรํ่ารวยและประเทศยากจนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้

ย้อนกลับไปสองปี โลกได้ตั้งความหวัง รวมทั้งรัฐบาลต่างๆ ได้ให้คำมั่นไว้ว่าภายในสิ้นปี ค.ศ.๒๐๐๙ สมาชิกมากกว่า ๑๙๐ ประเทศของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือย่อเป็น UNFCCC)[1] จะบรรลุความตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง รวมทั้งมีแผนและการเงินเพื่อการปรับตัวที่เป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้การประชุมภาคีของ UNFCCC ณ กรุงโคเปน     เฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อธันวาคมที่ผ่านมาจึงมีความสำคัญยิ่ง

ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้อ้างอิงในการเจรจาระบุว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ๑.๕ องศาเซลเซียส ประเทศหมู่เกาะจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งของหลายทวีปจะจมหายไปใต้ทะเล และหากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน ๒ องศา โลกจะก้าวสู่จุดที่เกินแก้ไขเยียวยา วันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยดังกล่าวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ ๐.๘ องศาแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าเราเหลือเวลากันไม่มากจริงๆ นอกจากนี้เครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศตัวเดียวที่เป็นกลไกเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซที่มีอยู่คือ “พิธีสารเกียวโต”[2] กำลังจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในระยะที่หนึ่งในปี ค.ศ.๒๐๑๒  หรืออีกไม่ถึงสองปีนับจากนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อยุติว่าในระยะต่อไป ใครจะลดการปล่อยก๊าซในปริมาณใดและกรอบเวลาอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด

การประชุมโคเปนเฮเกนจึงเปรียบเสมือนหลักหมุดหนึ่งที่จะชี้ว่าเราจะรอดหรือไม่ แม้ว่าเจ้าภาพจะได้ปิดการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมล่วงหน้าหลายวัน แต่ก็มีผู้ที่ได้ลงทะเบียนถึง ๔๐,๐๐๐ คน ส่งผลให้กลายเป็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีผู้นำรัฐบาลจาก ๑๒๐ประเทศ เดินทางเข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นนายบารัค โอบามา รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ   อย่างไรก็ตามสุดท้ายโลกก็ต้องผิดหวัง เมื่อที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่คาดหวังไว้ได้แต่ประการใด ซํ้าร้ายโดยการนำของสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์ก ยังได้มีการออกเอกสารอย่างไม่เป็นทางการ ที่ใช้ชื่อว่า “โคเปนเฮเกน แอคคอร์ค” (Copenhagen Accord)[3] มาในนาทีสุดท้าย โดยมีเนื้อหาที่เปิดช่องให้ประเทศรํ่ารวยสามารถหลบเลี่ยงภาระของตนในการรับผิดชอบปัญหา รวมทั้งละเลยมิติด้านความเป็นธรรมและการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดที่สุดในการเจรจาก็คือ จุดยืนที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย และไทย เป็นต้น จุดยืนที่ว่าคือประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าผู้ที่สมควรรับภาระหลักในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ก็คือประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากเป็นผู้ก่อปัญหามาต่อเนื่องนับแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศก็มาจากประเทศเหล่านี้นั่นเอง อีกทั้งประเทศรํ่ารวยเหล่านี้ยังมีกำลังเงินและเทคโนโลยีที่พร้อมมากกว่า

จะว่าไปหลักการที่อ้างนี้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและถูกระบุอยู่ในอนุสัญญาฯ และพิธีสารที่กล่าวถึงข้างต้นอยู่แล้วด้วย อย่างไรก็ดี ฝ่ายประเทศพัฒนาแล้วเห็นว่าในปัจจุบันประเทศ เช่น จีนและอินเดีย ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลเช่นกัน (แม้ว่าหากคำนวณต่อหัวประชากร จะยังห่างชั้นจากสหรัฐฯ หรือยุโรปอยู่มากก็ตาม) จึงสมควรร่วมรับภาระซึ่งหมายถึงการกำหนดเป้าหมายและผูกพันการลดการปล่อยก๊าซเป็นสำคัญ  ท่าทีที่ยืนอยู่คนละขั้วเช่นนี้เป็นสถานการณ์การเจรจาที่ยืดเยื้อมาหลายปีแล้ว และจนถึงโคเปนเฮเกนก็ไม่สามารถปลดล็อกได้

คงไม่ผิดอะไรนักหากจะกล่าวว่าไม่มีรัฐบาลใดพร้อมที่จะแก้ปัญหา มีแต่ต้องการให้คนอื่นเป็นผู้แก้ปัญหาทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเกือบทั้งโลกในปัจจุบันมีลักษณะสำคัญคือเป็นระบบทุนนิยมบนฐานของการใช้พลังงานฟอสซิล หากไปกำหนดเพดานหรือเป้าหมายในการใช้พลังงานเพื่อจะช่วยรักษาโลกเอาไว้ ผู้นำรัฐบาลต่างเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ กำไรของบริษัทเอกชนในประเทศอาจหดตัวลง ผลประโยชน์ชาติในบางนิยามอาจเสียหาย คนอาจว่างงานเพิ่มขึ้นจนทำให้พรรคการเมืองของตนสูญเสียความนิยมไป การตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนในความเข้าใจของพวกเขาจึงมีต้นทุนที่สูงยิ่ง ยังไม่นับรวมถึงเหล่าธุรกิจน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน ที่ต่างพยายามผลักดันเพื่อให้เราเคลื่อนตัวออกจากยุคฟอสซิลอย่างเชื่องช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังมีความเห็นต่างกันในเรื่องภาระความรับผิดชอบ แต่กลับมีบางประเด็นที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลต่างๆ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั้นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “โอกาสจากวิกฤติโลกร้อน” โอกาสที่ว่านี้หากจะให้ระบุสั้นๆ ก็คือการสร้างรายได้หรือทำกำไรจากการใช้ระบบตลาดเข้ามาเป็นกลไกแก้โลกร้อนนั่นเอง หลักพื้นฐานของกลไกดังกล่าวก็คือ หากคุณมีอำนาจทางการเงินไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทหรือปัจเจกบุคคล คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบปัญหาโดยลดการปล่อยก๊าซด้วยตัวคุณเอง คุณสามารถเอาเงินไปจ่ายให้คนอื่นทำแทน กลไกนี้ได้เกิดขึ้นแล้วและเป็นที่มาของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากตลาดซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต”[4] (หรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง) กลไกนี้ได้ช่วยอำนวยให้ธุรกิจและผู้คนในประเทศร่ำรวยสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไป โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตหรือดำรงชีวิต ส่วนประเทศยากจนก็สามารถสร้างรายได้จากการขายสิทธิอันพึงมีของตน

ดังนั้น ทั้งภายใต้กรอบการเจรจาและในภาพรวมของการแก้ปัญหา ประเด็นการทำเงินจากโลกร้อนจึงมีความคืบหน้ามากกว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาจริงเสียอีก จุดน่าห่วงใยสำคัญก็คือกลไกตลาดนั้นมีประสิทธิภาพต่ำหรือในบางมุมมองเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลยในการแก้ไขปัญหา ซ้ำร้ายยังมีอันตรายเพราะนอกจากที่อาจเป็นตัวฉุดรั้งความพยายามจริงในการแก้โลกร้อนแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ตามมา โดยเฉพาะการเบียดบังวิถีชีวิตและสิทธิของคนจน เช่น การกันชาวบ้านออกจากป่าเพื่อจัดให้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอน เป็นต้น

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังเรื่องโลกร้อนในสองมุมไปพร้อมๆ กัน คือ หนึ่งการลดการปล่อยก๊าซทั้งในระดับชาติและระดับสากล และสอง ผลกระทบจากกลไกและกิจกรรมที่มาในนามของการแก้ปัญหาโลกร้อน เนื่องจากทั้งสองมุมนี้เป็นประเด็นแหลมคมในการเจรจาและมีแนวโน้มที่จะละเลยหลักความเป็นธรรม ในรูปธรรมนั้นหมายถึงประเทศรํ่ารวยและกลุ่มคนที่เป็นผู้ก่อปัญหากำลังพยายามอย่างยิ่งยวดในการผลักภาระให้ผู้อื่น ทั้งการปฏิเสธที่จะลดการปล่อยก๊าซอย่างจริงจังและการลดที่จะเกิดขึ้นนั้นก็จะถูกดำเนินการโดยผู้มีรายได้น้อยกว่าในประเทศกำลังพัฒนาผ่านกลไกตลาด นอกจากนี้การปรับตัวที่จะต้องใช้ทั้งทรัพยากรและเทคโนโลยีก็ยังไม่มีการหยิบยื่นจากภาคเอกชนหรือรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วในระดับที่เหมาะสมแต่อย่างใด

หากจะสรุปอย่างสั้นๆ อาจกล่าวได้ว่า ในฐานะประชาชนเราคงจะต้องมองเรื่องโลกร้อนให้ก้าวพ้นถุงผ้าและหลอดประหยัดไฟ สำนึกและการแก้ไขระดับปัจเจกนั้นขาดไม่ได้ แต่ปัญหาจะยังคงอยู่และเลวร้ายลงหากโครงสร้างไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ขั้นตํ่าที่สุด เราคงต้องถอดแว่นของความเฉยชาออกและสวมแว่นแห่งความเป็นธรรมแทน เพื่อมองประเด็นโลกร้อนในมุมใหม่ มุมที่ตระหนักว่าหญิงชายไม่ได้รับผลกระทบในระดับที่เท่ากัน คนจนคนรวยต้องแบกรับภาระและมีศักยภาพในการปรับตัวที่ต่างกัน และคนที่เปราะบางกว่าภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันกำลังถูกเอาเปรียบเพื่อสร้างโอกาสทางผลประโยชน์ให้กับคนเพียงบางกลุ่ม

มาถึงจุดนี้ คงต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่มีใครมั่นใจว่าการเจรจาในระดับสากลภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือมวลมนุษย์จะข้ามผ่านมหาภัยนี้ได้อย่างไรในเมื่อกิเลสและผลประโยชน์ระยะสั้นครอบงำจิตใจพวกเราจนยากจะหลุดพ้น แต่ถึงจุดหนึ่งเชื่อว่าสำนึกร่วมในฐานะสมาชิกหนึ่งของโลกใบนี้จะเกิด  สิ่งที่หวังได้ขณะนี้คงจะเป็นการที่ให้เราเดินทางไปถึงจุดนั้นอย่างเจ็บปวดและเอารัดเอาเปรียบกันเองให้น้อยที่สุด

 


[1]  อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เป็นอนุสัญญาฯที่เกิดจากความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) อันเนื่องมาจากการสะสมตัวในชั้นบรรยากาศของก๊าซต่างๆ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และสารทดแทน CFCs ประชาคมโลกจึงได้จัดให้มีการประชุมดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

    เป็นอนุสัญญา “กรอบการทำงาน” ที่จำเป็นต้องมีวิธีการทางกฎหมายในการสนับสนุน (เช่นพิธีสารต่างๆ) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายแบบไม่ผูกมัด ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (อ้างอิงจาก กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ http://www.greenpeace.org/seasia/th)

 

[2] “พิธีสารเกียวโต” (Kyoto Protocol) เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change; UNFCCC) กล่าวคือเป็นกลไกในการทำให้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัตินั่นเอง

[3] “โคเปนเฮเก้น แอคคอร์ค” (Copenhagen Accord)  เป็นผลจากความพยายามเพื่อสร้างผลลัพธ์ใดๆ ให้เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้นำของจีน อินเดีย บราซิลและแอฟริกาใต้  ใน "โคเปนเฮเกน แอคคอร์ด" กำหนดเป้าหมายเอาไว้กว้างๆ ว่าจะรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกินกว่า ๒ องศาเซลเชียส แต่ไม่ได้ระบุระดับความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งไม่เป็นไปตามมติของที่ประชุมเมื่อ ๒ ปีก่อนหน้านี้ ที่สำคัญคือความตกลงดังกล่าวไม่มีข้อกำหนด เป็นพันธะทางกฎหมายให้ภาคีสมาชิกปฏิบัติตาม รวมทั้งไม่มีบทลงโทษใดๆ

[4]  สืบเนื่องจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดประมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก หรือกรีนเฮ้าส์เอฟเฟคท์ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หากประเทศที่ลงนาม ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่กำหนดไว้ จะต้องมีค่าปรับ  

“คาร์บอนเครดิต” จึงหมายถึง สิ่งทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันดิบในโรงงานอุตสาหกรรมหรือยานยนต์ หากประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถลดมลพิษของตนได้อีกต่อไป ก็ต้องใช้วิธีช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อลดได้จะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตของตนเอง ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ  ดังนั้น"การซื้อขายคาร์บอนเครดิต" จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่กำหนดออกมาพิเศษเพื่อช่วยให้ประเทศตัวการปล่อยก๊าซพิษไม่ต้องถูกลงโทษ  (อ้างอิงจาก http://www.oknation.net/blog/OKnatureclub)

 

Attachments: 

1msc_2010-02-26_จากโคเปนเฮเก้นถึงตัวเรา ความเสี่ยงและโอกาสของโลกที่ร้อนขึ้น_จฉ.pdf

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ไม่พบเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ป้ายคำนิยม

coal forest carbon National Master Plan PDP REDD+ การปรับตัว ถ่านหิน ป่าไม้ พลังงาน ภาคประชาชน เกษตรกรรม แผนแม่บทแห่งชาติ
More

Thai Climate Justice Working Group
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม