ทำไมต้องกล่าวหาว่าเป็น “อาชญากรโลกร้อน” ?
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice)
กันยายน 2555
ในขณะที่ภาคีสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) ประชุมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อเจรจากันต่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่กี่คนที่ทราบว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐไทยอยู่ในกระบวนการชี้เป้าหาตัว “อาชญากรโลกร้อน” เป็นประเทศแรก นั่นคือการฟ้อง “คดีโลกร้อน” กับประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เป็นผู้กล่าวหาในการฟ้องร้องชาวบ้าน 34 คดีว่าทำให้เกิดความเสียหายเนื่องจาก “อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น” และเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้านเหล่านั้นเป็นเงินหลายล้านบาท
ความเสียหายตามข้อกล่าวหาถูกคำนวนโดยสูตรซึ่งจำแนกความเสียหายจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำสูญเสียไปจากพื้นที่จากการแผดเผาของดวงอาทิตย์ การทำให้ฝนตกน้อยลง การทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน การทำให้ดินสูญหาย และการสูญหายของธาตุอาหารในดิน รวมทั้งมูลค่าความเสียหายอื่นๆที่มีต่อป่าไม้ประเภทต่างๆ (ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง) สูตรการคำนวณนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ครอบคลุมถึงความเสียหายอันเนื่องมาจาก “การลดลงของความสามารถในการเก็บกักคาร์บอน” อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ตรรกะในการตีมูลค่าความเสียหายจากสูตรดังกล่าว ดูจะลักลั่นกับความจริง กล่าวคือ คำนวณความเสียหายจากอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น แล้วนำมาเทียบกับต้นทุนของกระแสไฟฟ้าที่สมมติว่าต้องใช้ในการเดินเครื่องปรับอากาศขนาดยักษ์เพื่อลดอุณหภูมิในพื้นที่นั้นๆ ลงให้อยู่ในระดับ “ก่อนที่ป่าจะถูกทำลาย” หรือเป็นอุณหภูมิฐาน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจวัดอุณหภูมิในช่วงกลางวันตามยอดไม้ในสถานีวิจัย 16 แห่งทั่วประเทศในช่วงสามปีที่ผ่านมา และนำมาใช้เป็นตัวแทนอุณหภูมิฐานสำหรับป่าในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากต่อคดีโลกร้อนก็คือ ผู้ที่ตกเป็นจำเลยทั้ง 34 คนเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอ้างว่าพวกเขาเพียงแต่ทำกินในที่ดินของตนเอง และทางการได้ปฏิเสธสิทธิในการทำกินของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม ในตอนนี้พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปในที่ดินของตนเอง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่พวกเขาเลี้ยงชีพตนเองได้ นอกจากนี้ยังจะต้องจ่ายค่าปรับโดยเฉลี่ยเป็นเงินจำนวน 360,000 บาท ซึ่งถ้าคิดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน พวกเขาจะต้องทำงานทุกวันเป็นเวลาสามปีครึ่ง เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าปรับดังกล่าว
การฟ้องคดีโลกร้อนในประเทศไทยนี้ ดูเหมือนจะเป็นกรณีสุดโต่งของการจับ “อาชญาการโลกร้อน” แบบผิดฝาผิดตัว
รากเหง้าของปัญหานี้อย่างหนึ่งคือ การประกาศเขตอุทยานเกิดขึ้นโดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันมีการประกาศให้พื้นที่ 64.88 ล้านไร่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่ตัวเลขของกรมป่าไม้ในปี 2541 แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนเกือบครึ่งล้านครัวเรือน หรือราว 1.38 ล้านคนอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น แม้ชาวบ้านในหลายพื้นที่จะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชนและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเจรจากับรัฐ และยืนยันสิทธิที่พวกเขาอยู่ในป่ามาก่อน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสให้กันพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของตนเองออกจากพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศใหม่ แม้จะผ่านไปกว่าสองทศวรรษ ก็ยังไม่มีทางออกให้กับความขัดแย้งนี้
ยิ่งไปกว่านั้น การจับกุมผู้อาศัยอยู่ในป่าชุมชนดูจะเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอซึ่งทำงานในภาคอีสานประมาณว่า มีการจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉลี่ย 20 กรณีต่อวัน ในบางกรณี ชาวบ้านเข้าไปทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ในลักษณะที่เป็นวนเกษตร อย่างเช่นที่เทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยถูกจับกุมเมื่อพวกเขาโค่นต้นยางอายุ 30 ปีของตนเองเพื่อปลูกใหม่ การโค่นต้นเก่าเพื่อปลูกใหม่เป็นวิถีเกษตรทั่วไป และมักมีการโค่นต้นยางเมื่อไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้ว ทำให้เกษตรกรได้เงินจากการขายไม้ และสามารถนำเงินที่ได้มาลงทุนปลูกยางรอบใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเจ็ดปีกว่าที่จะโตพอให้กรีดยางได้เป็นครั้งแรก
การที่เจ้าหน้าที่มองดูแผนที่หรือภาพถ่ายทางอากาศจากในสำนักงานซึ่งห่างไกลจากพื้นที่จริง จึงไม่น่าประหลาดใจที่พวกเขาจะตีเส้นแนวเขตพื้นที่อุทยานทับพื้นที่สวนยางเหล่านี้ด้วย เนื่องจากชาวบ้านทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “สวนสมรม” ซึ่งในระบบเช่นนี้ จะมีการปลูกต้นยางห่าง ๆ และปลูกพืชชนิดอื่น ๆ แทรกไปด้วย (ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผลและไม้ท้องถิ่นอื่นๆ อย่างเช่น ทุเรียน มังคุด สะตอ ต้นหมาก และพืชผักกินได้อย่างเช่น ใบชา ข่า) แม้ว่าผู้ทำสวนสมรมจะได้น้ำยางน้อยกว่าคนที่ทำสวนยางเชิงเดี่ยวซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐ แต่สวนวนเกษตรของพวกเขาก็ให้อาหารอย่างอื่นเป็นรายได้เสริม และยังทำให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพ
ในหลายประเทศ วิถีเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ แต่ในประเทศไทย กรมป่าไม้กำลังโค่นต้นยางและต้นมะพร้าวเล็กๆ ที่ชาวบ้านนำมาปลูกในพื้นที่พิพาท เจ้าหน้าที่ใช้ทั้งเลื่อยยนต์และใช้สารเคมีราดทำลายที่ตอไม้เพื่อไม่ให้งอกขึ้นมาได้อีก โดยอ้างว่าทำเพื่ออนุรักษ์ป่า
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ภาคป่าไม้ของไทยไม่ได้เป็นปัจจัยหลักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันที่จริงในรายงานของประเทศไทยที่ส่งให้กับสหประชาชาติตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ระบุว่านับแต่ปี 2543 การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้เป็นตัวดูดซับคาร์บอนสุทธิไว้เสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ของไทย (70%) โดยประมาณสองในสามของการใช้พลังงานเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง
ไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกที่เอาผิดทางอาญากับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในป่า ในประเทศอินโดนีเซียและส่วนอื่น ๆ ของโลกก็มีการตั้งข้อหา “บุกรุกพื้นที่อนุรักษ์” เช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยไทยก็น่าจะเป็นประเทศเดียวที่เจาะจงกล่าวหาว่าเกษตรกรที่มีรายได้น้อยและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เป็นอาชญากรโลกร้อน
ในเวลาเดียวกัน นักค้าไม้รายใหญ่ เจ้าของสวนป่าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือบรรดาโรงงานอุตสาหกรรม อาคารขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้นอื่น ๆ กลับไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีให้ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม
======================================
อย่าอ้างคนจนเพื่อหลบเลี่ยงการแก้ปัญหาโลกร้อน
ตัวอย่าง แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ตีพิมพ์เมื่อ 24 กันยายน 2555 ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ภายใต้ชื่อ “Thai Power Development Plan is at odds with reality”
ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้เป็นจำนวนมาก โควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของประชาชนได้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยซ้ำ แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลไม่กำหนดเป้าหมายและผูกพันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?
ที่ผ่านมามีนโยบายระดับประเทศและงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่ชี้ว่า ประเทศไทยสามารถลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเข้มข้นดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) ซึ่งเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา วางแผนให้ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงหมุนเวียนได้มากขึ้นถึงสามเท่า โดยสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานทั้งหมดของประเทศได้ 25% ภายในปี 2564 และประมาณว่าจะช่วยให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 76 ล้านตันต่อปี ตลอดช่วงเวลาสิบปีข้างหน้าตลอดระยะเวลาของแผนฯ
แน่นอนว่า ประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในกำลังการผลิตไฟฟ้าจะยังคงส่งผลจำกัดหากการบริโภคพลังงานโดยรวมของไทยยังเติบโตในระดับที่เคยเป็นมา ตลอดช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ความต้องการพลังงานของไทยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และจะเพิ่มอีกสองเท่าจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ภายในปี 2573 หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม
แผนพลังงานอีกฉบับของรัฐบาลซึ่งมุ่งแก้ปัญหานี้แบบตรงเป้าคือ แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554 -2573) ที่ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดียวกันเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าประเทศไทยจะลดการบริโภคพลังงานลงได้ 20% ภายในปี 2573 ด้วยการจัดการด้านความต้องการพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
ยุทธศาสตร์และมาตรการที่เสนอในช่วง 20 ปีต่อจากนี้ จะก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 14,500 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ 272,000 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 49 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ศักยภาพเชิงเทคนิคในการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยยังมีมากกว่าที่นำมากำหนดเป็นเป้าหมายในแผนดังกล่าว
จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan หรือ แผนพีดีพี) ฉบับล่าสุดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา กลับระบุเป้าหมายการประหยัดพลังงานในภาคการผลิตไฟฟ้าไว้เพียง 20% ของเป้าหมายที่แผนอนุรักษ์พลังงานกำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ แผนพีดีพีเป็นแผนที่มีอิทธิพลในทางปฏิบัติมากที่สุดต่อการกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ทั้งในแง่ปริมาณและประเภทเชื้อเพลิง (ประเภทโรงไฟฟ้า)
นอกจากนั้น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุดนี้ยังพยากรณ์ว่า ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 26,355 เมกะวัตต์ในปีปัจจุบัน เป็น 70,847 เมกะวัตต์ในปี 2573 และกำหนดว่าจะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6 โรง โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ 7 โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง และต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนที่มีปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายเขื่อน
แท้จริงแล้วการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ในอีกหลายแง่มุม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชื่นชม กรีเซน และคริส กรีเซน นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนพลังงานได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์เป็นรายงานชื่อ “ข้อเสนอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012) และกรอบเพื่อการพัฒนาความรับผิดตรวจสอบได้ของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า” ซึ่งท้าทายสมมติฐานและวิธีการของรัฐที่ใช้ในการวางแผนพีดีพี อันนำไปสู่ทางเลือกการผลิตพลังงานดังที่ผ่านมาของประเทศ
บทวิเคราะห์ของชื่นชมและคริสแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหลายครั้งที่ผ่านมา ยังคงประมาณความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินความเป็นจริง ทั้งสองชี้ว่าต้องมีการปรับปรุงกระบวนการวางแผนด้านพลังงาน และยังเสนอการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จำเป็นเพื่อช่วยให้ภาคพลังงานพัฒนาให้ตอบสนองวัตถุประสงค์เชิงนโยบายของรัฐบาลได้
รายงานดังกล่าวระบุว่า “การเลือกเสนอให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากซึ่งเป็นชนวนความขัดแย้ง มีราคาแพง มีความเสี่ยง และก่อมลพิษจำนวนมากมาย แทนที่จะเสนอทางเลือกที่มีราคาถูกกว่า สะอาดกว่า และปลอดภัยกว่า ... แสดงให้เห็นว่าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าขัดแย้งกับทั้งนโยบายด้านพลังงานและผลประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่”
ในบทวิเคราะห์มีการเสนอทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถให้บริการและความสะดวกสบายได้เท่าเดิม โดยที่ไม่จำเป็นต้องขายไฟฟ้ามากขนาดที่กำหนดไว้ในแผนพีดีพีของรัฐ
เข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใดผู้ที่มีผลประโยชน์ในภาคพลังงานของไทย จึงไม่อยากยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ บริษัทพลังงานขนาดใหญ่ต่างมีผลกำไรจากการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ทันทีที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด (พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีพลังงานออกมายืนยันว่าจะมีการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งใหม่อีก 6 โครงการ และทันใดนั้นก็มีข่าวว่าราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดสามรายของไทยพุ่งสูงขึ้น บรรดานักธุรกิจและนักการเมืองจำนวนหนึ่งของไทยต่างได้รับประโยชน์จากการทำให้มีความต้องการผลิตพลังงานที่สูงขึ้น แม้จะเป็นการเสนอตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริงมากก็ตาม
แต่การพยากรณ์ที่เกินจริงเช่นนี้ทำให้เกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ก่อมลพิษสูง มักตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตามแนวชายฝั่งภาคใต้ และใกล้กับแม่น้ำสายหลัก ซึ่งส่งผลคุกคามต่อชุมชนจำนวนมาก และเป็นชนวนให้เกิดการต่อต้านจากประชาชน
รายงานของชื่นชมและคริส กรีเซน ประกอบด้วยข้อเสนอเพื่อให้มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเป็นข้อเสนอที่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและนักวิชาการ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคประชาสังคม 147 องค์กร
ตามข้อเสนอนี้ ประเทศไทยจะสามารถหลีกเลี่ยงการผลักภาระให้คนจนในรูปผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากมายจากการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโครงการอื่น ๆ
ในแง่ภาพรวมของเศรษฐกิจ รายงานชี้ให้เห็นว่า เราสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ไม่จำเป็นหลายแสนล้านบาท ทำให้ต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านน้อยลง และจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของประชาชนลดลงด้วย
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลังงานได้มากมาย โดยการปล่อยก๊าซในปี 2573 จะเพิ่มจากระดับในปี 2553 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การวางแผนด้านพลังงานอย่างเป็นองค์รวมตามข้อเสนอนี้จะช่วยให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” แบบที่ต้องการได้อย่างแท้จริง
ไม่มีเวลาให้เสียอีกต่อไปแล้ว ภาวะโลกร้อนที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นสาเหตุให้เกิดพายุโซนร้อนบ่อยครั้งขึ้น มหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงในปีที่แล้วทำให้ประเทศไทยตระหนักดีถึงผลที่อาจตามมาจากพายุเหล่านี้
แต่เหตุใดประเทศไทยต้องมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วย ทั้งที่รัฐบาลประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วยังเตะถ่วงและไม่แยแสต่อปัญหาอย่างน่าละอาย? จริงที่ว่าประเทศอุตสาหรรม (ประเทศใน “ภาคผนวก 1” ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ไม่ควรแก้ตัวใดๆ ทั้งนั้น และต้องลดการปล่อยก๊าซฯ จำนวนมากอย่างรวดเร็วและจริงจัง เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะถือเป็นความรับผิดชอบที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับ ชอบด้วยกฎหมาย และศีลธรรม
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในภาคผนวก 1 หรือประเทศกำลังพัฒนา ที่ปล่อยก๊าซระดับสูงและเพิ่มขึ้น ก็สามารถมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง หากการทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยรวม
แม้ว่าพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายสำหรับประเทศกำลังพัฒนา แต่ทุกประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ได้ตกลงร่วมกันว่าจะให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะหาทางดำเนินการเท่าที่จะทำได้อย่างเหมาะสม
ประเทศกำลังพัฒนาโต้แย้งอย่างมีน้ำหนักว่า ตนมีสิทธิที่จะใช้พื้นที่คาร์บอนในชั้นบรรยากาศ หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อไปนั่นเอง เนื่องจากพวกเขาก็มีสิทธิที่จะพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศในภาคผนวก 1 ซึ่งได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขยายตัวทางอุตสาหกรรมในหลายศตวรรษที่ผ่านมาจนทำให้สามารถพัฒนามาถึงระดับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เราควรเข้าใจว่า ความหมายของ “สิทธิที่จะพัฒนา” คือ สิทธิในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่สิทธิที่จะส่งเสริมแบบแผนการบริโภคและการผลิตที่ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่สิทธิที่ชนชั้นนำจะสะสมความมั่งคั่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จในโลกฝ่ายเหนือ โดยปล่อยให้มีการเหยียบย่ำสวัสดิการและผลประโยชน์ของคนยากจน
บรรดานายทุนและชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาต้องเลิกขัดขวางการแสดงความผูกพันที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะภูมิอากาศ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องความต้องการพลังงานของคนยากจน เพราะคนจนก็มีสิทธิที่จะไม่ต้องแบกรับภาระที่หนักหน่วงจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นและก่อมลพิษในชุมชนของตนเอง
ทั้งแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน และข้อเสนอของชื่นชมและคริส กรีเซนเพื่อให้จัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ แสดงให้เห็นหนทางที่มีอยู่แล้วที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจังในอนาคตควบคู่ไปกับการส่งเสริมสวัสดิการด้านสังคม ในขณะเดียวกันก็มีทางเลือกมากมายในการให้บริการด้านพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุการพัฒนาที่พึงประสงค์ได้โดยไม่ยากแต่อย่างใด
---------------------------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน: Rebeca Leonard เป็นนักเขียนอิสระ จักรชัย โฉมทองดี และฝ้ายคำ หาญณรงค์ เป็นสมาชิกคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice)