Skip to main content
Thai Climate Justice Working Group logo

Thai Climate Justice Working Group

  • หน้าแรก
  • ปัญหา
  • ทางออก
  • ประเด็น
  • บอกต่อ
  • คลังข้อมูล
  • กิจกรรม
  • เกี่ยวกับเรา

คลังข้อมูล

ทำความเข้าใจการเมืองเรื่องโลกร้อน

Submitted by webmaster on Wed, 02/20/2008 - 17:17

แผ่นพับ สำหรับนักพัฒนาและชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจการเมืองเรื่องโลกร้อนที่ทำให้คนจนต้องร้อนผ่าวไปด้วย

 

เรื่องเล่า: คนสร้างโบสถ์

ชุมชนแห่งหนึ่งประกอบขึ้นด้วยผู้คนจำนวนมากมาย มีทั้งรวย ปานกลาง และจน บางคนประกอบอาชีพการเกษตร บางคนหาปลา บางคนทำการค้า และบางคนก็ทำอุตสาหกรรม แต่มีชายกลุ่มหนึ่งซึ่งสร้างฐานะขึ้นมาจนร่ำรวย มีรถยนต์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ และเครื่องปรับอากาศใช้อย่างสะดวกสบาย ในแต่ละวัน ผู้คนต่างแวะเวียนไปทักทายชะโงกหน้าหาชายกลุ่มนี้ เพราะรู้ว่ากระเป๋าเงินหนัก ต้องการจะผูกมิตรสัมพันธ์ด้วย ต่างคนก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะค้นพบว่าพวกเขาสร้างฐานะเป็นเศรษฐีภายในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร 

มาวันหนึ่ง ชาวบ้านค้นพบความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ความร่ำรวยทางเศรษฐกิจของคนเหล่านี้ได้มาจากการค้ามนุษย์และยาเสพติด ทุกคนต่างลงความเห็นว่า การเปิดซ่องส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในชุมชน และยังมีผลกระทบต่อคนอื่นๆนอกชุมชนด้วย ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น หลายชุมชนต่างมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขอย่างสันติ แล้วก็มีมติร่วมกันว่า บรรดาเศรษฐีเหล่านี้ควรจะต้องปรับเปลี่ยนการทำมาหากินของตนเองเสีย มิเช่นนั้น ปัญหาสังคมจะลุกลามไปกันใหญ่

แต่ด้วยเหตุที่ว่า การทำมาค้าขายในแนวทางนี้ของชายกลุ่มนี้ได้ทำกันมานานแล้วและเห็นผลว่าสร้างความสุขสบายให้พวกเขา ดังนั้น จึงไม่ต้องการหันไปทำอาชีพอื่น บรรดาเศรษฐีหนุ่มจึงได้ต่อรองว่าจะขอปรับเปลี่ยนค่อยเป็นค่อยไป และตกลงว่าจะบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อสร้างโบสถ์ให้ชุมชน อีกทั้งยังจะให้ทรัพย์สินและสิ่งตอบแทนกับคนที่ทำมาหากินสุจริตในหมู่บ้านอีกด้วย เพราะถือว่าช่วยสร้างความดีเป็นการชดเชยให้กับสิ่งที่พวกเขากระทำ...

เรื่องจริง: การแก้ไขปัญหาโลกร้อน

เรื่องเล่าข้างต้นเขียนขึ้นจากการสะท้อนความเข้าใจของพี่น้องที่เข้าร่วมการประชุมเรื่องโลกร้อนช่วงกลางปี 2552 ที่ผ่านมา บนฐานของความจริงที่ว่าประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในอดีตกำลังใช้วิธีการจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาทำหน้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แทน ส่วนประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศเหมือนเดิม ...นี่เป็นอีกเรื่องของความไม่ธรรมระหว่างประเทศบนโลกใบนี้ ซึ่งได้นำมาสู่ความไม่เป็นธรรมภายในประเทศระหว่างกลุ่มคนต่างๆด้วย
แต่ก่อนที่เราจะอธิบายให้ยืดยาวกว่านี้ มาทำความเข้าใจทีละขั้นทีละตอน จากจุดเริ่มต้นกันก่อนดีไหม

 

หนึ่ง โลกมันร้อน ใครเล่าเป็นคนทำ?

ปัญหาโลกร้อนที่เกิดวันนี้มีต้นเหตุที่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ เพราะเมื่อหลายร้อยปีก่อน ขณะที่ประเทศอื่นๆยังคงมีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติและการเกษตร ประเทศเหล่านี้ได้เร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม มีการขุดเจาะน้ำมันและถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานสกปรกแต่ราคาถูกมาใช้อย่างมากมาย ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ก๊าซเหล่านี้ไปปกคลุมโลกกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้ระบายออกไปนอกโลกได้เหมือนเดิม อุณหภูมิของโลกจึงร้อนขึ้น และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งใบโดยมีหลายประเทศยอมรับ  

* หนี้นิเวศน์/ หนี้สภาพภูมิอากาศ แต่เดิมประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากได้กู้ยืมเงินจากประเทศพัฒนาแล้วและสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆเพื่อนำมาพัฒนาประเทศภายใต้เงื่อนไขการกู้ที่ไม่เป็นธรรม (เช่น เงื่อนไขให้เปิดเสรีหรือแปรรูป) แต่เมื่อปัญหาโลกร้อนปรากฎตัวให้เห็น จึงพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วต่างหากที่เป็นหนี้ประเทศกำลังพัฒนา โดยการขูดรีดทรัพยากรไปตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม และขูดรีดชั้นบรรยากาศโดยการปล่อยมลพิษไปมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับไหว หนี้ดังกล่าวจึงเรียกว่า “หนี้นิเวศน์” ส่วนผลกระทบที่เกิดกับประชากรในประเทศกำลังพัฒนาจากปัญหาโลกร้อนที่ตนไม่ได้มีส่วนก่อขึ้นในอดีต เรียกว่า ประเทศพัฒนาแล้วติด “หนี้สภาพภูมิอากาศ” แก่ประเทศกำลังพัฒนา กราฟข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความต่างราวฟ้ากับดินในสัดส่วนการบริโภคระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยและยากจน

สอง เมื่อเกิดปัญหาและผลกระทบ ได้มีการแก้ไขอย่างไร

เมื่อโลกร้อนเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการแก้ไขไม่ให้เกิดผลเสียหายมากไปกว่านี้ก็คือ การลดหรือหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
ประเทศต่างๆได้ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน และได้ข้อสรุปเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นกรอบหลักในปี 2535 มีผลบังคับใช้ใน 2 ปีต่อมา แต่อนุสัญญาฯไม่ได้กำหนดเป้าหมายและภาระความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซ ต่อมาการประชุมในปี 2540 จึงเกิดพิธีสารเกียวโตซึ่งกำหนดเป้าหมายและภาระความรับผิดชอบให้กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งที่ยอมรับพิธีสารเกียวโต (สหรัฐฯไม่ยอมรับพิธีสารเกียวโต จึงหลุดไม่เข้าข่าย) ต้องลดการปล่อยก๊าซลงเฉลี่ย 5% จากปริมาณก๊าซเดิมที่เคยปล่อยไว้ในปี 2533 โดยมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2551-2555 ส่วนหลังจากปี 2555 จะต้องมีการเจรจาเป้าหมายและภาระความรับผิดชอบกันอีกรอบซึ่งเริ่มเจรจาแล้วในปี 2552 และจะไปสรุปที่โคเปนเฮเกน

สาม ตกลงกันได้อย่างดิบดี แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติปรากฎว่า ประเทศต่างๆที่เข้าข่ายต้องลดการปล่อยก๊าซภายใต้พิธีสารเกียวโตได้ลดการปล่อยก๊าซจริงๆภายในประเทศน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่แล้ว ประเทศเหล่านี้จะใช้กลไกตลาด ซึ่งก็คือ การซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศอื่นๆเพื่อนำมาชดเชยส่วนที่ตนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินไปหรือไม่ก็ขายคาร์บอนเครดิตเพื่อทำกำไรจากโควต้าการปล่อยก๊าซที่ตนใช้ไปไม่ถึง กลไกการซื้อขายที่ว่ามีอยู่ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศพัฒนาแล้วมีการสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนขึ้นมาโดยเฉพาะ คล้ายๆกับตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร หรือตลาดหุ้น ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันกระทำผ่านกลไกการซื้อขายที่เรียกว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM)

* CDM คือ โครงการลงทุนด้านต่างๆที่ได้ชื่อว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านพลังงาน เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแกลบ โครงการผลิตก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์ เป็นต้น โดยนักลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วอาจจะร่วมมือกับนักลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อจัดทำโครงการนี้ แล้วคิดคำนวณว่าการทำโครงการนี้ช่วยลดการปล่อยลงได้เท่าไร โดยเทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการนี้ ผลที่ได้จะเป็นคาร์บอนเครดิตซึ่งถูกนำไปเจรจาซื้อขายกันต่อไป โดยราคาการซื้อขายในตลาดคาร์บอนผ่านกลไก CDM ขณะนี้อยู่ที่ 12-15 เหรียญสหรัฐฯต่อตันคาร์บอน เปรียบเทียบกับการที่ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยในบ้านตนเอง จะมีราคาสูงมากถึง 55-90 เหรียญสหรัฐฯต่อตันคาร์บอน พูดง่ายๆคือ คล้ายๆกรณีบริษัทย้ายโรงงานมาตั้งในประเทศที่มีค่าแรงและต้นทุนสิ่งแวดล้อมถูกกว่านั่นเอง

สี่ อ้าว... ไม่ลดการปล่อยก๊าซ แต่ซื้อขายก๊าซแทน

แล้วประเทศกำลังพัฒนาหล่ะว่าอย่างไร
รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยยินดีและอ้าแขนต้อนรับเงินก้อนใหม่จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ CDM ในไทย มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (มหาชน) ขึ้นเพื่อดูแลกิจการด้านนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ เมื่อมีการนำเสนอกลไกใหม่ๆเพื่อสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการ ปล่อยก๊าซบ้าง (เช่น กลไก REDD ในภาคป่าไม้) ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากก็มีแนวโน้มเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ประเทศกำลังพัฒนาเองก็มีผลประโยชน์ที่ใหญ่ไปกว่าแค่เงินจากโครงการ CDM คือ ในระดับการเจรจา ประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซให้มากขึ้น รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือเรื่องการปรับตัวจากผลกระทบโลกร้อนอันเป็นหลักการความรับผิดชอบที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ดังนั้นจึงทำให้ประเด็นซับซ้อนพัวพันกันพอสมควร

ห้า ความจริงของการเมืองบนเวทีเจรจาโลกร้อนเป็นอย่างไร

ต้องเข้าใจก่อนว่า อนุสัญญาฯระบุเป้าหมายที่จะรักษาความสมดุลของปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงทางอาหาร บนหลักการความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง (คือ ประเทศใดเป็นต้นเหตุมากก็รับผิดชอบมาก) รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความช่วยเหลือกับประเทศกำลังพัฒนาในการลดและปรับตัวต่อผลกระทบจากโลกร้อนบนเวทีเจรจา การแบ่งแยกระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจึงค่อนข้างชัดเจน ประเทศพัฒนาแล้วพยายามอย่างมากที่จะชักจูงให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาร่วมลดการปล่อยก๊าซด้วย โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับเป้าหมายใหม่ของการลดการปล่อยก๊าซที่มากและรวดเร็วพอ โดยชี้นิ้วไปที่ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เช่น จีนและอินเดีย ที่เริ่มมีประวัติการปล่อยก๊าซสูงในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน เมื่อมาถึงเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวรับมือกับผลกระทบ ประเทศพัฒนาแล้วก็ชักช้าที่จะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ปัจจุบัน แหล่งเงินสำหรับการปรับตัวนี้มาจากการเก็บ 2% ของเงินจากโครงการ CDM ที่ทำในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอและเป็นการเก็บเงินกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศกำลังพัฒนาฝ่ายเดียว โดยไม่ได้มีการเก็บเงินจากการซื้อขายระหว่างประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเอง

หก อย่าลืมการเมืองนอกเวทีเจรจาโลกร้อนด้วยหล่ะ

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนายังไม่อยู่ในข่ายถูกกำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยโดยรวมก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนในฐานะผู้ปล่อยมลพิษที่เพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาโดยมาจากภาคพลังงานเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตเป็นไปได้ว่าไทยอาจถูกกำหนดให้ต้องลดการปล่อยก๊าซเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และที่ควบคู่มากับปัญหาโลกร้อนจากภาคพลังงาน ก็คือ ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดกับชุมชนในพื้นที่ที่โครงการตั้งอยู่ ซึ่งนำมาสู่การเรียกร้องให้กระจายศูนย์อำนาจการจัดหาพลังงาน 

เพื่อแสดงว่าภาคเอกชนและภาครัฐได้ริเริ่มลดโลกร้อนโดยสมัครใจ มีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ เช่น นิวเคลียร์ และถ่านหินสะอาด เป็นทางออก รวมทั้งจัดทำโครงการ CDM ที่เกี่ยวข้อง ...แต่ทว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้จริง และยังไม่อาจช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในระดับพื้นที่ได้เช่นเดิม (แม้ว่าโครงการ CDM บางโครงการอาจให้ประโยชน์กับชุมชนและพื้นที่ที่โครงการตั้งอยู่ เช่น การแปลงมูลสัตว์เป็นก๊าซชีวภาพสำหรับหุงต้ม ช่วยลดกลิ่นเหม็นและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน แต่ก็มีบางส่วนที่นำปัญหามาให้เพิ่มเติม เช่น ผลกระทบจากฝุ่นละออง เป็นต้น) ดังนั้น ในทางปฏิบัติเมื่อมีการนำมาตรการหรือนโยบายหรือโครงการเพื่อลดโลกร้อนมาใช้ในประเทศ จึงกระทบกับความสัมพันธ์ภายในประเทศ คือ อาจจะเป็นการทำให้ปัญหาความขัดแย้งเดิมดำรงอยู่ต่อไปหรือเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทที่ดำรงอยู่มาก่อนหน้านี้ รวมถึงกระบวนการจัดการและการมีส่วนร่วม

เจ็ด จากพลังงานสู่ป่าไม้

ขณะที่ CDM ในภาคพลังงานยังเป็นที่ถกเถียง ก็มีการเสนอแนวคิดเรื่องการลดการปล่อยก๊าซในภาคป่าไม้โดยจูงใจให้เกิดการลดการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม หรือที่เรียกว่า REDD
อันที่จริง REDD ถูกนำเสนอโดยประเทศกำลังพัฒนา โดยมองว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นต้นเหตุของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกันประมาณ 20% ดังนั้น คนที่รักษาป่าอยู่แล้วควรจะได้รับผลตอบแทนหรือรางวัลทางการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้รักษาป่าต่อไป ส่วนคนที่ไม่รักษาป่าก็น่าจะสร้างแรงจูงใจให้เขารักษาป่ามากขึ้น
แนวทางของ REDD ก็คล้ายๆกับ CDM คือ ต้นไม้หรือป่าที่เข้าโครงการ REDD จะถูกวัดและคำนวณออกมาว่าเมื่อเวลาผ่านไป มีการรักษาพื้นที่ป่าในสัดส่วนที่มากขึ้นหรือไม่ พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ มีการทำลายป่าลดลงหรือไม่ คาร์บอนเครดิตที่ได้จะถูกแปลงเป็นเงิน (จะให้กับใครนั้นเป็นอีกเรื่อง) โดยอาจจะมาจากการขายเครดิตในตลาดคาร์บอนหรือเป็นเงินมาจากกองทุน
ปัญหาก็คือว่า เมื่อนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ มีแนวโน้มจะซ้ำเติมความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านี้ระหว่างชาวบ้าน/ชุมชนที่อยู่กับป่ามาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานและภาครัฐ เนื่องจากสิทธิชาวบ้านบนพื้นที่ทำกินและสิทธิของชุมชนในการจัดการป่ายังไม่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายในประเทศ

แปด ภาคเกษตรกำลังจะตามมา

ภาคเกษตรอยู่ในวาระการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนไปโดยปริยายแล้ว แต่ยังไม่มีการนำเสนอกลไกที่ชัดเจนเหมือนในกรณี CDM ภาคพลังงานและ REDD ในภาคป่าไม้
ภาคเกษตรเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกแหล่ง แต่อาจจะซับซ้อนกว่าภาคอื่นตรงที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงทางอาหาร และคาร์บอนจำนวนหนึ่งเป็นคาร์บอนที่มีการปล่อยออกมาและดูดกลับไปเองตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีสังเคราะห์เป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซในภาคเกษตร ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การกักเก็บคาร์บอนในดินภาคเกษตรมีแนวโน้มที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ไขโลกร้อนในอนาคต ทั้งนี้ ในแง่บวก อาจนำมาสู่การปรับปรุงดินและปรับเปลี่ยนสู่การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ในแง่ลบ อาจส่งผลต่อการกว้านซื้อที่ดินเพื่อกักเก็บคาร์บอน และกระทบกับสิทธิในที่ดินของเกษตรกรรายย่อย จึงเป็นอีกประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน

 

เรื่องราวมากมายแต่อย่าให้หลงประเด็น
...กลับมาที่คนสร้างโบสถ์...

ในระหว่างประเทศ หลักฐานต่างๆทำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องยอมจำนนยอมรับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตนเองก่อในอดีต แต่ก็เหมือนเศรษฐีในเรื่องเล่าที่ไม่ต้องการแก้ไขความผิดของตน กลับชดเชยโดยการจ้างให้คนอื่นทำแทนตน
(ในราคาที่ถูกกว่า) ซึ่งกลไกที่เข้าข่ายไว้ใช้ทำแทน เช่น CDM, REDD และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตประเภทอื่นๆ
ส่วนภายในประเทศเอง
การแก้ไขปัญหาโลกร้อนอาจหมายถึงการละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตของชุมชน เนื่องจากหลักความเป็นธรรมและสิทธิยังไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชนที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นสิ่งที่กำลังจะตามมา
ดังนั้น เราจึงต้องพูดดังๆว่า

ลดโลกร้อน ต้องอย่างเป็นธรรม!!!

 

Attachments: 

ทำความเข้าใจการเมืองเรื่องโลกร้อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ไม่พบเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ป้ายคำนิยม

coal forest carbon National Master Plan PDP REDD+ การปรับตัว ถ่านหิน ป่าไม้ พลังงาน ภาคประชาชน เกษตรกรรม แผนแม่บทแห่งชาติ
More

Thai Climate Justice Working Group
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม