5 เมษายน 2554 [1]
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2553 ตัวแทนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้ยื่นข้อเสนอปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณี เพื่อสะท้อนความห่วงใยต่อสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เลวร้ายยิ่งขึ้น ปฏิญญาสากลนี้ตระหนักว่าทุกสรรพชีวิตมีหน้าที่ต้องคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและปกป้องสถานภาพของแม่ธรณี คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมจึงได้จัดเวทีสัมมนาว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณีขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวและหยิบยกอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งเพื่อสรรสร้างสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน อลิซาเบ็ธ เพเรโด เบลทราน, ผู้อำนวยการมูลนิธิโซลอน, ประเทศโบลิเวีย ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาแนวคิดในสิทธิของแม่ธรณีที่สามารถเริ่มสถาปนาวาทกรรมระดับสากลว่าด้วยเรื่องการพัฒนาได้ระดับหนึ่ง
ในขณะที่ภัยธรรมชาติอันเกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงและความถี่ยิ่งขึ้น ความสามารถในการตระหนักและจดจำถึงการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือหนึ่งในก้าวแรกที่จะเยียวยาและฟื้นฟูระบบนิเวศได้ แต่มนุษย์ได้ยอมรับการทำให้ทรัพยากรกลายเป็นสินค้าและหาประโยชน์ภายใต้ระบบทุนนิยมโดยมิได้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงและการพึ่งพากันของทุกสรรพชีวิตในภาพรวม การพัฒนาจึงเหลือเพียงมิติเดียวคือการเพิ่มพูนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจซึ่งถูกทำให้เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดผ่านการพัฒนาของเทคโนโลยีเช่น การตัดต่อทางพันธุกรรมและพลังงานนิวเคลียร์ สถาบันและองค์กรขนาดใหญ่เช่นองค์การการค้าโลก(WTO) และโครงสร้างทางกฎหมายในปัจจุบันยังส่งผลให้ทรัพยากรกลายเป็นสินค้าและหาประโยชน์ได้ง่ายดายขึ้น แม้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อสนองความต้องการและผลประโยชน์ของบรรษัทเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้น (สิ่งที่เรียกว่า) “การพัฒนา” จึงโอนเอียงต่อการยอมให้อำนาจและเงินตราเป็นตัวขับเคลื่อนมวลมนุษยชาติให้ไปสู่อนาคตที่(คาดว่าจะ)ดีขึ้น ตัวชี้วัดของแนวคิดดังกล่าวหรือ จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ก็มิได้รวมเอาต้นทุนทั้งหมดของกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การทำเหมืองแร่อาจส่งผลให้จีดีพีขยายตัวแต่การคำนวนจีดีพีได้ละเลยต้นทุนทางธรรมชาติและสังคมอย่างมลภาวะและความเป็นอยู่ของคนงานเหมือง
ขบวนการสิทธิมนุษยชนในอดีตเริ่มต้นจากแรงโต้กลับต่อความเลวร้ายของระบอบนาซี แต่มนุษย์คงไม่สามารถรอคอยให้เกิดมหันตภัยเพื่อที่จะเริ่มหันมาต่อสู่เพื่อสิทธิของแม่ธรณีและเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ แต่ละปีก๊าซเรือนกระจกกว่า 9 ล้านเมตริกตันถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ และในแต่ละปีคนราว 350,000 คนต้องจบชีวิตเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 5 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้าหากการปล่อยก๊าซยังไม่ถูกจำกัด เพื่อบรรเทาความหายนะทางธรรมชาติที่กำลังคืบคลานเข้ามา มนุษย์ต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงกับแม่ธรณีและสร้างการรับรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่ง ความรู้สึกสำนึกพระคุณ และชะตาร่วม ที่มนุษย์มีต่อแม่ธรณีอีกครั้ง ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องเลิกเข้าใจว่ามนุษย์คือศูนย์กลางและแม่ธรณีเป็นเพียงทรัพยากรเท่านั้น เราไม่สามารถและไม่มีสิทธิ์ที่จะล่วงละเมิดแม่ธรณีซึ่งเป็นทั้งบ้านและผู้ให้ชีวิตได้
ในปี 2550 – 2552 เอกวาดอร์และโบลิเวียเป็นสองประเทศแรกในโลกที่ได้ยอมรับสิทธิของแม่ธรณีภายใต้รัฐธรรมนูญโดยการเปลี่ยน“การพัฒนา”เป็นแนวคิด”การมีชีวิตที่ดี” และมีเป้าหมายเพื่อกระจายทรัพยากรอย่างเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม อย่างไรก็ตามการรับรองของสิทธิแม่ธรณีในระดับชาติคงไม่เพียงพอที่จะจัดการกับวิกฤตระดับโลก แนวคิดเหล่านี้ได้รับการส่งต่อไปสู่การประชุมสูงสุดของประชาชนโลกว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิของแม่ธรณี (World People’s Conference on Climate Change and the Rights of Mother Earth) ในปี 2553 ที่เมืองโคชาบัมบา ประเทศโบลิเวีย จากการปรึกษาหารือเกือบหนึ่งสัปดาห์เพื่อหาทางออกของปัญหาที่เกี่ยวโยงกับโลกร้อน มติร่วมของผู้เข้าประชุมจากทั่วทุกมุมโลกคือความอยู่รอดของมนุษย์ชาติขึ้นอยู่กับการรับรองและปฏิบัติตามภายใต้กรอบของสิทธิแม่ธรณี เหตุวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2554 เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดของความหายนะอันเกิดจากการที่มนุษย์มุ่งเน้นแต่”การพัฒนา” และ “การเจริญเติบโต” ข้อเสนอว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณีชี้ว่าสิทธิของแต่ละชีวิตถูกจำกัดโดยสิทธิของชีวิตอื่นๆ และการจัดสรรสิทธิระดับปัจเจกนี้ต้องดำเนินไปในลักษณะที่ปกป้องและเสริมสร้างสิทธิแม่ธรณี มนุษย์ทั้งมวลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการต่อการละเมิดสิทธิของแม่ธรณีและการปกป้องสิทธิของแม่ธรณีต่อไปในอนาคต โดยระดับความรับผิดชอบควรคำนึงถึงสิ่งที่ก่อขึ้นในอดีต เสียงยอมรับต่อแนวความคิดเหล่านี้ได้สะท้อนในมติระดับโลกขององค์การสหประชาชาติแล้วเช่น การประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง (World Conference on Indigenous Peoples) และคณะกรรมาธิการที่สองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน(Second Committee on Sustainable Development) ตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ มิใช่เป็นเจ้าของโลก เป็นต้น สิทธิในเรื่องของน้ำและสุขาภิบาลยังสามารถถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสิทธิของแม่ธรณีได้เช่นกัน ชนพื้นเมืองต่างๆมีความรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมอย่างสันติกับธรรมชาติและพวกเขากำลังเรียกคืนสิทธิเหล่านั้นหลังจากการต่อสู้อันยาวนานเพื่อปกป้องภูมิปัญญาและสถานภาพของพวกเขาจากการบ่อนทำลายอย่างเป็นระบบ ในปี 2552 ชนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำอเมซอนได้เรียกร้องความยุติธรรมต่อศาลโลกจากปัญหาความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติที่พวกเขามิได้เป็นผู้ก่อแต่ต้องแบกรับภาระ ที่สำคัญความเคลื่อนไหวเหล่านี้กำลังขยายใหญ่ขึ้นเช่น การฟ้องร้องบริษัทบริติช ปิโตรเลียม หรือบีพี ภายใต้รัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ในเดือนธันวาคม 2552 ต่อกรณีที่บริษัทได้ทำน้ำมันรั่วและละเมิดต่อสิทธิของธรรมชาติที่จะดำรงอยู่โดยปราศจากการปนเปื้อน คตินิยมสิทธิสตรีได้สอนให้โลกรู้ว่าประเด็นปัจเจกเช่นการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือการรักษาความรู้ท้องถิ่นเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้น เราต้องส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อท้าทายระบบที่กำลังสร้างความเสียหายต่อแม่ธรณี พร้อมกับจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าในปัจจุบัน ความเข้าใจและการยอมรับสิทธิของแม่ธรณีไม่สามารถเป็นเพียงความรับผิดชอบจากสำนึกส่วนบุคคล ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เราต้องใช้กระบวนทัศน์ของสิทธิแม่ธรรีเพื่อสร้างการเมืองใหม่ รวมถึงระบบและธรรมาภิบาลที่เอื้อต่อการฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศที่ปฏิบัติได้จริงโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงนี้มิใช่การถอยหลังแต่เป็นการก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี, คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ,ได้สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของแนวคิดดังกล่าวกับบริบทในเอเชียว่า เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าทุกสรรพชีวิตมีชะตากรรมร่วมกัน สิทธิมนุษยชนและสิทธิของแม่ธรณีนั้นมีความใกล้เคียงกันและความเกี่ยวข้องระหว่างสิทธิกับความรับผิดชอบนั้นจะแยกส่วนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรากำลังเผชิญกับการล่าอาณานิคมแบบใหม่ซึ่งผู้ล่าในฐานะบรรษัทข้ามชาติใช้อำนาจการควบคุมทางอ้อมผ่านสถานบันรัฐและกฎหมายเพื่อยึดครองและเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นสินค้า แนวคิดเรื่องการตรวจสอบและความรับผิดชอบ จึงสำคัญมากเพื่อที่จะหยุดยั้งบรรษัทและสถาบันต่างๆไม่ให้ผลักภาระต้นทุนการผลิตไปสู่สิ่งแวดล้อม
สิทธิของแม่ธรณีเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง สิทธิของชนพื้นเมือง และสิทธิในการมีชีวิต แต่หากพิจารณาในมิติของความยุติธรรมแล้ว ยังต้องหาพื้นที่ร่วมระหว่างความเป็นธรรมทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และการเมือง
สิทธิมนุษยชนยังต้องต่อสู้เพื่อสร้างค่านิยมใหม่และความตระหนักของบุคคลทั่วไป ฉะนั้นข้อเสนอในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณีจึงต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้เช่นกัน การนำแนวความคิดนี้ออกสู่สาธารณะและสนับสนุนให้เข้าไปอยู่ในระบบศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญและจะช่วยเปิดการสนทนาสาธารณะและเชื่อมความคิดกับบุคคลหลายๆกลุ่ม
พฤ โอ่เดเชา, ตัวแทนจากชนเผ่ากะเหรี่ยงและสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน, ให้ความเห็นว่าสิทธิของแม่ธรณีนั้นคล้ายคลึงระบบความเชื่อและค่านิยมของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงมาก การให้ความเคารพต่อแม่ธรณีฝังลึกอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขาโดยเฉพาะในการทักทายกันเช่น “สวัสดีลูกแม่(ธรณี)” สำหรับชาวกะเหรี่ยง ความโยงใยอับสลับซับซ้อนในธรรมชาติได้เชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งเข้าด้วยกันภายใต้วรรณะแห่งการพึ่งพา น้ำและภูเขาคือแม่ของสรรพสิ่ง ส่วนธรณีนั้นยิ่งใหญ่กว่าและมีศักดิ์เป็นยายเพราะมีหน้าที่ดูแลระบบในธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์และรักษาความสมดุลของโลก วิญญาณของมนุษย์ก็ถูกแบ่งออกและเข้าไปอยู่ในสรรพชีวิตอื่นๆเช่น เสือ ช้าง หรือแม้แต่แมงกุ๊ดจี่ การทำลายสัตว์เหล่านี้จึงเสมือนการทำลายมนุษย์เอง ความรู้ที่ได้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นสร้างจินตนาการในการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมายในปัจจุบันเพิกเฉยต่อความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความชะตาร่วมของสรรพชีวิต หากถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตในป่าอย่างสงบสุข คำตอบคงรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงน้ำ ที่ดิน และในการใช้ทรัพยากรป่าไม้ แต่ระบบของรัฐมองไม่เห็นความเชื่องโยงเหล่านี้และบังคับให้กรมแต่ละแห่งรับผิดชอบทรัพยากรอย่างแยกส่วนแม้ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถอยู่ได้โดยสิทธิใดสิทธิหนึ่ง
ข้อเสนอในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณีเป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ต่อจินตนาการอันเก่าแก่ซึ่งมองเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งแทนการตีราคา จินตนาการนี้จะนำพามวลมนุษย์ไปสู่อนาคตที่ปลอดภัยกว่าเพราะโลกสามารถเยียวยาตนเองได้จากมลพิษและความหายนะทางธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่มนุษย์เองอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ หากแนวคิดและความตระหนักนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยในวงกว้าง พวกเราจะมีความเข้าใจและสามารถที่จะอยู่กับแม่ธรณีอย่างสงบสุข อุปสรรคสำคัญคือกฎหมายไทยซึ่งกำเนิดจากค่านิยมและความคิดของผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศในปัจจุบันที่มิได้สะท้อนถึงจินตนาการของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เข้าใจในธรรมชาติแม้แต่น้อย กลยุทธ์ของโบลิเวียมีความก้าวหน้ามากที่ได้เผชิญหน้าและท้าทายกับระบบทุนนิยมผ่านสิทธิของแม่ธรณีและประเทศไทยควรนำกลยุทธ์เหล่านี้มาใช้เช่นเดียวกัน
เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมแสดงถึงความเห็นพ้องถึงการมีสิทธิของแม่ธรณี กลุ่มผู้เข้าร่วมจากชนพื้นเมืองและคนจากชุมชนท้องถิ่นอธิบายว่าการแสดงความเคารพและการเสียสละในบางครั้งเพื่อแม่ธรณีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของพวกเขา แต่มนุษย์ปัจจุบันจะโทษธรรมชาติหรือสิ่งอื่นๆเวลาเกิดภัยพิบัติก่อนการสำรวจตนเองว่าได้ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมไปเท่าใด ระบบของรัฐยังส่งเสริมการแยกส่วนของสังคมมนุษย์และธรรมชาติ รวมถึงยินยอมยกอำนาจและความชอบธรรมให้เหล่าบรรษัทเพื่อดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ขณะนี้เจ้าป่าได้สูญเสียอำนาจให้กับกรมป่าไม้ซึ่งรับรองความเป็นนิติบุคคลและสิทธิอันชอบธรรมของบริษัทมากกว่าสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านและชาวพื้นเมืองพึงได้รับเสียอีก
นอกเหนือจากนี้ ยังมีผู้ร่วมประชุมได้ตั้งคำถามต่อการนำแนวคิดว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณีไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน จะทำอย่างไรเพื่อช่วยในการเข้าถึงอาหารและการักษาพยาบาล สิทธิของแม่ธรณีที่จะหยุดการพัฒนาอันไม่ยั่งยืนและตอบโจทย์ปัญหาประชากรโลกหรือความยากจนได้หรือไม่และอย่างไร การเปลี่ยนความเป็นเจ้าของจากทรัพยากรส่วนบุคคลเป็นทรัพยากรของส่วนรวมอาจก้าวหนึ่งที่สำคัญและเป็นไปได้ของปฏิบัติการนี้ เพราะว่าชุมชนในสมัยก่อนได้ใช้ชีวิตตามวิถีนั้นมาหลายพันปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมอีกกลุ่มหนึ่งยังมองไม่เห็นว่าการริเริ่มปฏิบัติการนี้จะเป็นไปได้อย่างไรอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าเช่นการแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรอื่นๆรวมถึงความรุนแรงที่ตามมา
ทั้งนี้ ดร.ศรีประภา กล่าวเสริมว่าปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายของการต่อสู้เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมความเข้มแข็ง ความเป็นอยู่ที่ดี และความสมดุลของระบบนิเวศ การรวมสิทธิแม่ธรณีเข้าไว้ในธรรมนูญของกลุ่มประเทศอาเซียนจะช่วยพัฒนาการสนทนาเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนในระดับภูมิภาคและส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ สิทธิของแม่ธรณีมิใช่สิ่งใหม่ เพียงแต่เป็นวาทกรรมที่เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อสร้างความเข้าใจใม่ในระดับสากลว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อก่อให้เกิดความเห็นร่วมในหลายๆกลุ่มคน ปฏิบัติการของแนวคิดนี้ต้องสอดคล้องกับการแก้ปัญหาและความต้องการที่เร่งด่วนพร้อมกับการมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของธรรมชาติ สิทธิของแม่ธรณีจะเปิดพื้นที่ในการต่อสู้กับระบบอำนาจในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือและการผลักดันของกลุ่มที่มีศักยภาพและประสบการณ์สูงเช่นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และโดยเฉพาะชนพื้นเมืองซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและสันติกับธรรมชาติ ในความเป็นจริง พวกเรายังต้องต่อสู้ด้วยสิทธิมนุษยชนที่อ่อนแอกับมายาคติของการพัฒนาอันไม่สิ้นสุดและกฎหมายที่สร้างมาเพื่อยึดครองและเปลี่ยนให้ทรัพยากรเป็นเพียงสินค้า ความจำเป็นที่สุดในขณะนี้คือการสร้างและขยายวาทกรรมเพื่อความเข้าใจต่อสิทธิของแม่ธรณีไปทั่วทุกมุมโลก
-----------
1 บทความนี้เรียบเรียงจากงานสัมนาภายใต้หัวข้อ “สิทธิของแม่ธรณี – สิทธิพื้นฐานด้านการจัดการทรัพยากรและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย โครงการ “นโยบายทางเลือกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศสำหรับประเทศไทยภายใต้มิติความเป็นธรรม (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)” ร่วมกับ คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม และ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา