โลกร้อนคืออะไร ทำไมถึงต้องสนใจด้วย
โลกร้อน คือ การที่อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่มนุษย์ได้ขุดพลังงานฟอสซิลจากใต้ดินมาใช้อย่างมหาศาล เกิดการปลดปล่อยก๊าซบางชนิดสู่ชั้นบรรยากาศ และไปปิดกั้นไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกสะท้อนออกไป ทำให้โลกเกิดสภาพเหมือนเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น และแม้จะร้อนขึ้นเพียงไม่กี่องศา นั่นก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และส่งผลต่อเนื่องต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่
แล้วโลกมันร้อนขึ้นจริงๆ หรือ หลอกกันหรือเปล่า
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่าปรากฎการณ์โลกร้อนเกิดขึ้นจริงๆ จะมีก็แต่เพียงนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มที่ปฏิเสธว่าโลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือเกิดขึ้นแต่ไม่เป็นปัญหา กลุ่มนี้ส่วนมากแล้วมีผลประโยชน์พัวพันกับบริษัทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจากการที่ผู้คนตื่นตัวและต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เช่น บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่
ไหนบอกว่าโลกร้อน ปีนี้ออกจะหนาว
การที่โลกร้อนขึ้นไม่ได้หมายความว่าอากาศจะต้องร้อนขึ้นเสมอไป บางปีอาจจะหนาวขึ้น บางปีอาจจะร้อน แต่โดยภาพรวมแล้วเมื่อดูอุณหภูมิโลกเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น
คนพูดถึงโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฟังแล้วสับสน ตกลงมันเหมือนกันไหม
โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นคนละอย่างกัน แต่เกี่ยวข้องกัน คือ การที่โลกร้อนขึ้น หรือที่เราเรียกว่าโลกร้อนนั้นเป็นต้นเหตุที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในอีกทางหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีผลทำให้อากาศร้อนขึ้นด้วย กรณีหลังเราไม่เรียกว่าเป็นโลกร้อน
ใครเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าโลกร้อนขึ้นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเกิดจากฝีมือของมนุษย์ โดยเรื่องราวเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อครั้งที่ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ ทำให้เกิดการผลาญทรัพยากรธรรมชาติและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและสะสมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเดินตามรอยประเทศพัฒนาแล้วในการมุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศเหล่านี้ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัวจนปรากฏว่าปัจจุบันบางประเทศปล่อยก๊าซมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมเสียอีก
พูดให้ชัดกว่านี้ได้ไหมว่ากิจกรรมส่วนไหนของมนุษย์ที่เป็นปัญหามากที่สุด
การใช้พลังงานของมนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะพลังงานส่วนใหญ่เป็นพลังงานสกปรกที่มาจากซากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งถูกสะสมอยู่ในชั้นใต้ดินมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันล้านปี แต่มนุษย์เรากลับผลาญไปจนเกือบหมดใต้ดินภายในระยะเวลาไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง พลังงานเหล่านี้เองที่มนุษย์ใช้ไปกับกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง เพราะต้องการให้เศรษฐกิจพัฒนา ให้คนผลิตและบริโภคกันให้มากๆ มูลค่าของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือที่เรียกว่าจีดีพีจะได้โตไวๆ
ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับทั้งโลก ดังนั้น เราก็ไม่ควรจะไปพยายามทำอะไรมากมายเกินความจำเป็นใช่ไหม
จริงอยู่ ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าประเทศอื่นมาก แต่หากดูเฉลี่ยต่อหัวโดยเฉพาะในกรุงเทพ จะเห็นว่าการปล่อยก๊าซของคนกรุงเทพก็ไม่ใช่น้อย แค่ระดับพี่ๆน้องๆของคนเมืองนิวยอร์คในสหรัฐฯเท่านั้นเอง! นอกจากนี้ หากเรายังปล่อยสิ่งต่างๆให้มันเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะเพิ่มในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงไทยก็จะต้องมีหน้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ที่นี้เป็นปัญหาแน่ เพราะจะกลับตัวก็ไม่ได้ ให้ไปต่อก็ไม่ถึงแน่ ดังนั้น ไทยควรจะมีวิสัยทัศน์ด้านนี้เสียแต่เนิ่นๆในการวางแผนพัฒนาประเทศต่อไป
เขาว่าภาคเกษตรเองก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่หรือ
ภาคเกษตรเองก็ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จริงๆจะว่าไปแล้วการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอยู่ในทุกภาคส่วน แต่เราจำเป็นจะต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างการปล่อยก๊าซเพื่อความอยู่รอดกับการปล่อยก๊าซแบบฟุ่มเฟือย ในการดำเนินชีวิต หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกบ้าง แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอสม ที่ผ่านมา การปลดปล่อยก๊าซในภาคเกษตรจำนวนมากเป็นไปเพื่อการผลิตอาหารเลี้ยงประชากร โดยหลักการแล้วจึงไม่ใช่การปล่อยก๊าซเพื่อความฟุ่มเฟือย แต่เป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าการปล่อยก๊าซในภาคเกษตรบางส่วนอาจจะเป็นปัญหาซึ่งควรได้รับการแก้ไข เช่น การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการใช้สารเคมีการเกษตร การปล่อยก๊าซมีเทนจากการเลี้ยงสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการปล่อยก๊าซจากการเผาฟางและหญ้า เป็นต้น
ชาวบ้านชอบตัดไม้ทำลายป่าทำให้โลกร้อน ควรจะไปจัดการกับกลุ่มชาวบ้านเสีย
การตัดไม้ทำลายป่ามีผลทำให้ปัญหาโลกร้อนแย่ลงเพราะทำให้ไม่มีป่ามาช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยอยู่ในชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม จำเลยของการตัดไม้ทำลายป่าไม่ควรจะตกอยู่กับชาวบ้านเพียงกลุ่มเดียว เพราะการตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังต่างหาก นอกจากนี้ ชาวบ้านหลายชุมชนมีการจัดการป่าไม้อย่างดีเยี่ยม มีกฎเกณฑ์ร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากป่า ขณะเดียวกันก็อนุรักษ์ป่าและฟื้นฟูให้ป่ามีความสมบูรณ์ขึ้นด้วยซ้ำ
โลกร้อนมีผลกระทบต่อคนอย่างไรบ้าง
ผลกระทบของโลกร้อนมีหลายอย่าง อยู่ที่ว่าเราพูดถึงอะไร แต่ที่สำคัญ คือ สุขภาพและอาหารของเราจะได้รับผลกระทบ ด้านสุขภาพ จะทำให้โรคระบาดในเขตร้อนเกิดมากขึ้น เช่น ไข้มาลาเรีย เพราะอากาศร้อนขึ้น เชื้อโรคอยู่ได้นานขึ้น ง่ายๆเลยเคยสังเกตไหมบนภูเขาหลายพื้นที่เคยเย็น เดี๋ยวนี้ร้อนขึ้น ก็พบว่ามียุงมากขึ้น เป็นต้น ส่วนอาหารก็จะได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บางปีฝนตกหนักท่วม บางปีฝนแล้ง อากาศร้อนเกินไปก็มีผลต่อการผสมเกสรหรือการออกดอกออกผลของพืชอาหาร
ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าที่ว่าประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และคนจนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย เพราะขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วและคนรวยมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเงิน ทรัพยากรต่างๆสำหรับการปรับตัวหรือเตรียมการรับผลกระทบ แต่ประเทศกำลังพัฒนาแล้วโดยเฉพาะประเทศยากจน และคนจนมีเครื่องมือและทรัพยากรน้อยกว่ามาก และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือ อย่าลืมว่าผลกระทบที่ประเทศยากจนและคนจนได้รับนั้น พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งแต่ต้น
เกษตรอินทรีย์ช่วยลดโลกร้อนได้ไหม
วิธีปฏิบัติในแนวทางเกษตรอินทรีย์ เช่น การลดการไถพรวน การบำรุงดิน การจัดการมูลสัตว์ ช่วยทำให้โลกเย็นได้ เพราะนอกจากนี้วิธีการเหล่านี้จะเพิ่มความสามารถให้ผืนดินสามารถช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว เกษตรอินทรีย์เองยังไม่ใช้สารเคมีการเกษตรซึ่งเป็นตัวการหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการใช้พลังงานในการผลิตต่ำกว่าระบบเกษตรเคมีอีกด้วย
ความวิปริตของสภาพอากาศ ภัยพิบัติต่างๆ เป็นผลจากโลกร้อนใช่ไหม
ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งภัยพิบัติเกิดมาจากหลายปัจจัย และภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลอย่างมากต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ทำให้สภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเล ลม กระแสน้ำ ฯลฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนถึงขั้นแปรปรวน และมีผลให้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้นและอาจจะรุนแรงมากขึ้น ในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะอาจจะหายไปทั้งประเทศ ดังนั้น ปัญหาโลกร้อนจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นเรื่องของความเป็นความตายสำหรับหลายประเทศเลยทีเดียว
ถ้าเราหยุดโลกร้อนได้วันนี้ หมายความว่าเราจะสามารถหยุดปัญหาผลกระทบต่างๆ ให้ไม่เกิดใช่หรือไหม
แม้เราหยุดไม่ไปเพิ่มปัญหาให้โลกร้อนขึ้น แต่ผลกระทบต่างๆก็จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆไปอยู่ดี เพราะก๊าซเรือนกระจกที่สะสมมานับแต่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมในโลกตะวันตกเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วได้ส่งผลต่อระบบนิเวศมาแล้วอย่างต่อเนื่อง การปล่อยก๊าซหรือไม่ปล่อยก๊าซของเราในวันนี้ คือ การเติมหรือไม่เติมเชื้อไฟในกองเพลิง ถ้าเราหยุดปล่อยได้ เราก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ดี แต่อาจจะยับยั้งผลกระทบรุนแรงบางอย่างไว้ได้
ที่ผ่านมา นานาชาติเขาตื่นตัวกันมากน้อยแค่ไหน และเขาแก้ปัญหาโลกร้อนกันอย่างไร
ประเทศต่างๆทั่วโลกตกลงที่จะเข้ามาอยู่ในกรอบการแก้ไขปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เรียกว่า “อนุสัญญายูเอ็นเอฟซีซีซี” ซึ่งเป็นหลักการกว้างๆ และที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินการให้การแก้ปัญหาโลกร้อนให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติผ่านกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า“พิธีสารเกียวโต” แต่เพราะประเทศต่างๆพยายามปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของตนโดยหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนจริงจัง ทำให้การดำเนินงานตามพิธีสารเกียวโตยังไปไม่ถึงไหน
โลกเราควรแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างไร
แน่นอนว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาของโลกที่ทุกคนบนโลกนี้ ควรจะร่วมด้วยช่วยกัน แต่หลักการสำคัญที่ไม่ควรลืมคือปัญหาเกิดที่ไหน เกิดจากใคร ที่นั่นและผู้นั้นก็ควรจะเป็นคนแก้ไข การแก้ไขแบบตรงๆก็คือ ถ้าเคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็หยุดหรืออย่างน้อยที่สุดลดการปล่อยก๊าซลงเสีย ที่ผ่านมาจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการแก้ปัญหาเป็นภาระหน้าที่หลักของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นต้นเหตุแต่แรกเริ่มจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และประเทศกำลังพัฒนาก็ควรจะร่วมช่วยด้วยตามกำลังความสามารถ
ถ้าผลกระทบของโลกร้อนมันมาก ทำไมเวทีโลกเขายังเถียงอะไรกันอยู่ได้ ไม่เห็นจะลงมือทำอะไรกันจริงๆ จังๆ สักที
เวทีนานาชาติเขาเถียงกันหลายเรื่องมาก นับตั้งแต่เป้าหมายเรื่องอุณหภูมิว่าต้องการรักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินไปกว่ากี่องศา เรื่องเงินว่าจะเอาเงินจากไหนมาแก้ปัญหา เรื่องเทคโนโลยี และที่สำคัญ เรื่องใครจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบกับปัญหาบ้าง สิ่งเหล่านี้เขาคุยกันโดยการเจรจาต่อรอง .แต่ละประเทศก็ต่างรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของตนไว้ให้มากที่สุด คือ พยายามจะทำน้อยที่สุด เพื่อให้ได้มากที่สุด การแก้ปัญหามันถึงไม่ไปไหน
น้ำมันอาจปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จริง แต่เราปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซกลับไปก็ได้ไม่ใช่หรือ
ต้องแยกระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรธรรมชาติกับการปล่อยก๊าซที่เป็นส่วนเกินของธรรมชาติ น้ำมันเป็นพลังงานจากซากฟอสซิลที่สะสมอยู่ชั้นใต้ดินเป็นเวลาหลายพันล้านปี แต่มนุษย์ขุดขึ้นมาใช้เกือบหมดภายระยะเวลาไม่กี่ร้อยปี ขณะที่ก๊าซมีเทนในนาข้าวอาจถูกดูดซับกลับไปในธรรมชาติได้อีกในภายหลัง แต่ก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ซากฟอสซิลไม่สามารถถูกดูดกลับไปอยู่ใต้ดินได้อีก ดังนั้น การปลูกป่าจึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดคือ ปล่อยน้ำมันอยู่ใต้ดินอย่างนั้นดีกว่า
โลกร้อนไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นธรรมตรงไหน
แรกสุดเลย ต้องนึกก่อนว่าปัญหาโลกร้อนมีต้นเหตุมาจากประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา มาจากคนรวยมากกว่าคนจน ลองนึกถึงคนที่แม่ฮ่องสอนดูสิ แต่ละวันเขาใช้พลังงานและทรัพยากรน้อยมาก เทียบกับคนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ หรือคนในนิวยอร์คซึ่งใช้ทรัพยากรเยอะกว่ามาก แต่พอเกิดผลกระทบ คนจนกลับได้รับผลกระทบมากกว่า สอง เวลาแก้ปัญหา คนที่มีอำนาจในการออกมาตรการหรือนโยบายมักจะไม่ดูว่าสังคมของเรามีปัญหาอะไรอื่นๆอยู่ก่อนหน้านั้น มุ่งแต่จะแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเดียว ซึ่งวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนหลายอย่างอาจช่วยให้โลกเย็นลงได้บ้างแต่จะทำให้สังคมร้อนระอุขึ้นแทนมากกว่า เช่น การที่ชุมชนในเขตป่ามีปัญหากับหน่วยงานของรัฐเรื่องสิทธิที่ดิน เพราะชุมชนอยู่อาศัยในป่ามานานก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน แต่ราชการก็ยึดถือว่าเป็นพื้นที่ป่าเป็นของรัฐแล้ว ถ้าคิดจะแก้โลกร้อนอย่างเดียว รัฐบาลอาจนึกถึงแต่การไล่ชาวบ้านออก เอาพื้นที่มาปลูกป่า ปัญหาสังคมและความขัดแย้งจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าจะทำให้โลกเย็นก็ต้องแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมไปพร้อมๆกัน
ช่วยยกตัวอย่างความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาโลกร้อน
การซื้อขายคาร์บอนเป็นตัวอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นธรรม คือ แทนที่คนปลดปล่อยก๊าซจะแก้ไขตัวเองด้วยการหาทางลดการปล่อยก๊าซที่บ้านของตัวเอง แต่กลับใช้เงินจ้างให้คนในอีกประเทศหนึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซที่อื่นแทน และหักกลบลบกันไปเสมือนหนึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซขึ้น
ถือถุงผ้า ปิดไฟ ใช้ตู้เย็นเบอร์ห้า เปิดแอร์เท่าที่จำเป็น ช่วยแก้โลกร้อนได้ไหม
เป็นเรื่องดีมากที่ทุกคนจะช่วยกันคนละไม้ละมือในการลดการใช้พลังงานและทรัพยากร แต่ถึงแม้กระนั้นผลของมันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะมีน้อยมาก เพราะในท้ายที่สุดคนส่วนใหญ่ก็จะทำไม่ได้ตลอดรอดฝั่งเพราะสิ่งแวดล้อม เช่น นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน ไม่เอื้ออำนวย ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น จึงต้องมีปฏิบัติการที่มากกว่านั้น
ในฐานะคนเมืองจะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนตรงไหนได้บ้าง
หนึ่ง พยายามให้ชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น กินง่ายอยู่ง่าย ลดการบริโภคบางอย่างหรือหลายอย่างที่ไม่จำเป็นลง เพราะยิ่งบริโภคมาก หมายถึงการใช้พลังงานในการผลิต แปรรูป ขนส่ง บรรจุ บริโภคและการกำจัดที่มากตามไปด้วย สอง ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ สาม คิดหาทางที่จะอยู่กับธรรมชาติมากกว่าจะเอาชนะธรรมชาติ เช่น การออกแบบบ้านให้โปร่งเพื่อให้ลมพัดเข้าออกได้แทนที่จะออกแบบบ้านติดกระจกให้ทึบแล้วเปิดแอร์ สี่ คิด ดัดแปลง และหาทางเลือกให้ตัวเองบ้าง เช่น การผลิตสบู่ใช้เอง การปลูกผักสวนครัวกินเอง การทำพลังงานทางเลือกใช้ในครัวเรือน ห้า สนับสนุนนโยบายและกลุ่มประชาสังคมที่ต่อสู้เพื่อลดโลกร้อนและสร้างความเป็นธรรม
ถ้าลดโลกร้อนหมายความว่าประเทศต้องหยุดพัฒนาใช่ไหม
ประเทศยังพัฒนาต่อได้ แนวทิศทางหรือแนวในการพัฒนาจะต้องเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และที่จะลืมไม่ได้คือ ความยั่งยืนทางสังคมด้วย ดังนั้น การพัฒนาแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เน้นส่งเสริมให้คนมีวิถีชีวิตล้างผลาญทรัพยากรโดยให้บริโภคให้มากๆ จะต้องเปลี่ยน
นโยบายแบบไหนที่เรียกว่าทำให้โลกเย็นขึ้นและเป็นธรรมด้วย
ต้องเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาโลกร้อน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆและปัญหาสังคมไปด้วยในเวลาเดียวกัน ต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และทำให้ปัญหาความยากจน ปัญหาการละเมิดสิทธิ ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมลดลง ยกตัวอย่างเช่น นโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกแบบกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น คือ ให้ท้องถิ่นมีสิทธิ อำนาจและทรัพยากรในการผลิตและจัดการพลังงานของตน นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินทางการเกษตรให้เกษตรกรรายย่อยโดยสนับสนุนการผลิตแบบยั่งยืน เป็นต้น
เดี๋ยวนี้เห็นว่าเขาซื้อขายคาร์บอนได้ด้วยช่วยลดโลกร้อน จริงหรือเปล่า
ในทางปฏิบัติ การซื้อขายคาร์บอนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้น้อยมาก เพราะทำให้ทุกคนไขว้เขวมัวแต่สนใจการซื้อขายคาร์บอนเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยทางธุรกิจ สุดท้ายเลยไม่มีใครสนใจที่จะลด
เราอาจจะทำให้โลกร้อนบ้าง เช่น เดินทางโดยเครื่องบินบ่อยๆ แต่ก็ชดเชยโดยการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลที่ช่วยปลูกป่า อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราได้แก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จในตัวแล้วใช่ไหม
ถ้าเชื่อว่าบุญกับบาปเป็นคนละส่วนกัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับการจ่ายเงินให้คนอื่นช่วยแก้ไขปัญหาให้ก็เป็นคนละเรื่องคนละส่วนเช่นเดียวกัน แม้การบริจาคอาจจะทำให้เกิดประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยไปแล้วไม่อาจจะนำมาหักลบกลบหนี้ได้เหมือนตัวเลขในทางบัญชี นอกจากนี้ วิธีการนี้หากใช้บ้างเป็นบางครั้งก็อาจพอยอมรับได้ แต่ถ้าบ่อยครั้งเข้าก็เป็นเพียงความพยายามแก้ไขที่ปลายเหตุของปัญหาเท่านั้น แต่ต้นเหตุของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจริง
ชุมชนต่างๆ ควรเตรียมรับมือกับผลกระทบหรือไม่ อย่างไร
ชุมชนต่างๆควรเริ่มคิดถึงแนวทางในการรับมือปรับตัวกับผลกระทบได้แล้ว เพราะหากเกิดปัญหาที เช่น น้ำท่วม การมาคิดถึงแผนรับมือก็สายไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่อาจบอกได้เป็นคำตอบสำเร็จรูป แต่เป็นกระบวนการที่คนในท้องถิ่นต้องเรียนรู้ เนื่องจากสิ่งที่จะเกิดในอนาคตนั้นมีความไม่แน่นอนอยู่ เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง การคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์เพียงแต่บอกได้คร่าวๆเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ เช่น ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจก็มีผลต่อความสามารถของชุมชนในการรับมือกับภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน
ลองยกตัวอย่างนโยบายเพื่อการตั้งรับปรับตัวให้เห็นเป็นรูปธรรมหน่อยได้ไหม
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ก็ควรจะมีความยืดหยุ่นต่อการเรียนรู้และปรับนำทรัพย์สินนั้นไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ยา ความรู้ ทรัพยากรไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ ไม่ใช่ออกกฎมาเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเพียงอย่างเดียว