*หมายเหตุ: บทความนี้ ตีพิมพ์ฉบับปรับปรุงเป็นภาษาอังกฤษ “Battered planet, twisted economics” ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2556 [http://www.bangkokpost.com/print/348585/]
ผู้เขียน: ฝ้ายคำ หาญณรงค์, คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
ณ ตอนนี้ ถึงเวลาที่มนุษย์ชาติต้องเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (paradigm) ในการพัฒนาอย่างถึงแก่น เพื่อนำไปสู่การออกแบบวิถีชีวิตของเราให้สอดคล้องกับข้อจำกัดที่แท้จริงของโลก และในแง่นี้เอง เราจึงควรหันมาทบทวนความหมายของ "การใช้ชีวิตที่ดี" ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลกคนอื่นๆ
วิกฤตโลกระอุ
ปลายเดือนเมษายน 2556 สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ (Scripps Institution of Oceanography) ซึ่งมีประวัติบันทึกระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยาวนานที่สุด ออกมาแถลงว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ล้านปีที่ค่าบันทึกประจำวันความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกกำลังจะสูงขึ้นเลย 400 ส่วนในล้านส่วน หรือ พีพีเอ็ม (ppm: parts per million) และหากยังคงเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็น่าจะเลยระดับ 450 พีพีเอ็ม ภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า [1] ข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตัวกับผู้สนใจเรื่องภาวะโลกร้อนทั่วโลก เพราะตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญ เนื่องด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ หากเราไม่ต้องการให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่คาดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางหายนะต่อระบบต่างๆ ของโลกจะเกินจุดย้อนกลับได้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจำนวนมากเตือนว่าเราต้องรักษาความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดอออกไซดในชั้นบรรยากาศไว้ไม่ให้เกิน “350 พีพีเอ็ม”
... กลางเดือนพฤษภาคม 2556 สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์รายงานอีกครั้งหนึ่งว่าความเข้มข้นเฉลี่ยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกที่วัดได้ประจำวันได้ไต่ระดับถึง 400 พีพีเอ็มแล้ว และคาดว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกจะเกิน 400 พีพีเอ็มภายใน 2-3 ปีนี้ [2]
ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ปรากฎการณ์โลกร้อนกำลังเกิดขึ้น ก็เป็นที่รับรู้กันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาค/พื้นที่ของโลกนั้นเกิดไม่เหมือนกันและความรุนแรงก็ไม่เท่ากันด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีการประมาณว่าในอีกไม่กี่ทศวรรตที่จะถึงนี้ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งรวมถึงบางส่วนของประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องเตรียมพร้อมรับอุณหภูมิซึ่งอาจสูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 2-6 องศา (แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่านั้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน) ทั้งนี้ ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดคือภูมิภาคเขตร้อน ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและอ่อนไหวมาก เช่น ทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีความเปราะบางอยู่แล้วและขาดทรัพยากรในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ในแง่ผลที่ตามมาจากปรากฎการณ์โลกร้อน น้อยคนอาจตระหนักว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิกฤตน้ำและวิกฤตอาหารอันต่อเนื่องมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เริ่มก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคยากจนเหล่านี้ มีการศึกษาว่าวิกฤตอากาศ-น้ำ-อาหารที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จะส่งผลให้ภาวะขาดสารอาหารในเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ภายใน ค.ศ. 2550 และเฉพาะในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อาจมีเด็กขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นถึง 9 – 11 ล้านคน [3] แต่ปัญหาของคนยากคนจนหรือคนชายขอบโลกมักไม่ค่อยเป็นข่าวเท่ากับเรื่องพายุกระหน่ำ น้ำท่วมใหญ่ และคลื่นความร้อนปะทะทวีปอเมริกาเหนือหรือยุโรป
สถานการณ์นี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสะสมในชั้นบรรยากาศปัจจุบัน ว่าส่วนใหญ่มีต้นตอจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (นำ้มัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) ตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะพัฒนาแล้วทั้งด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้นยังโชคดีที่ไม่อยู่ในภูมิภาคซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเท่าภูมิภาคอื่นๆ ที่พัฒนาช้ากว่า
โลกมีข้อจำกัด
ปลายเดือนกันยายน 2556 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้อนุมัติรายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 (Working Group 1) ภายใต้ชื่อ “Climate Change 2013: The Physical Science Basis” [4] ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนจากโลกวิทยาศาสตร์ไปยังผู้นำโลกซึ่งกำลังจะเริ่มการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCCC COP) ที่กรุงวอร์ซอร์ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการบอกคือ “ภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นในอัตราที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของภัยพิบัตินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกิจกรรมที่มีการเผาไหม้เชื่อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์” ทั้งยังยืนยันว่า ผลส่วนใหญ่จากภาวะโลกร้อนซึ่งมนุษย์ก่อนขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่ย้อนกลับไม่ได้ และจะยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายศตวรรษ หรืออาจถึงพันปีแม้เราจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างทันนี้ในตอนนี้ก็ตาม
ถ้ายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่ดำเนินอยู่นี้ ภายใน 30 ปีที่ข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งหากจะจำกัดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตให้ได้นั้นหมายความว่ามนุษย์ต้องลดการปล่อยยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลอย่างมีนัยยะสำคัญและต่อเนื่อง เพราะการจะยับยั้งไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศา ณ ปลายศตวรรษนี้ (ดังที่ได้ตกลงกันเมื่อปี 2009 ที่กรุงโคเปนเฮเกน) หมายความว่าตั้งแต่เมื่อเริ่มยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนสิ้นศตวรรษที่ 21 (ปี 2100) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์รวมแล้วไม่ควรเกิน 800 – 880 พันล้านตันเทียบเท่าคาร์บอน หรือที่เรียกว่า “งบดุลย์คาร์บอน” (carbon budget) แต่ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันเราได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เทียบเท่าคาร์บอน) นับแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ. 1860 ไปแล้วถึง 515 พันล้านตัน [5] ซึ่งหมายความว่า เรายังมีงบดุลย์เหลือให้ควรปล่อยอีกเพียงประมาณ 380 พันล้านตันจนกว่าจะสิ้นศตวรรษนี้ โดยที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าจะเป็นไปได้จริงในสภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ งานศึกษาชื่อ “เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดโลกร้อนไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส” (Greenhouse-gas emission targets for limiting global warming to 2 °C) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature เมื่อปี 2009 [6] ระบุว่า หากมนุษย์เผา (ใช้) เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดเฉาพะจากแหล่งเชื้อเพลิงสำรองที่พิสูจน์แล้วและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน จะเกิดการปล่อยคาร์บอนถึง 763 พันล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ
จุดอิ่มตัวของสังคมฟอสซิล
ในอีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากบอกว่าอีกไม่นานโลกกำลังจะถึง "จุดอิ่มตัวของการผลิตน้ำมัน" (peak oil) ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าเราได้มาถึงจุดอิ่มตัวดังกล่าวแล้ว "จุดอิ่มตัวของการผลิตน้ำมัน" หมายถึงภาวะที่การผลิตน้ำมันจากแหล่งทรัพยากรที่ "เข้าถึงง่ายและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์" เริ่มลดลง โดยมีผู้วิเคราะห์ว่าหลังจากนั้น จุดอิ่มตัวของการผลิตก๊าซธรรมชาติและจุดอิ่มตัวของการผลิตถ่านหินจะตามมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรัพยากรที่กำลังลดลงแต่อัตราการบริโภคยังคงเข้มข้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่า มนุษยชาติจะต้องหาแหล่งน้ำมันใหม่ขนาดเทียบเป็น 6 เท่าของแหล่งน้ำมันประเทศซาอุดิอาราเบียภายใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) – ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางกายภาพ [7]
กระนั้นก็ตาม เรายังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจโลกด้วยพลังงานสกปรกเหล่านี้กันต่อไป ซ้ำร้าย เมื่อแหล่งทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มเข้าถึงได้ยากขึ้น เราก็เริ่มใช้วิธีการที่ซับซ้อนและสกปรกยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งเชื้อเพลิงเหล่านั้น เช่น ทรายน้ำมัน (tar sand) การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานด้วยวิธีไฮดรอลิคแฟรคเจอริ่ง (fracking of shale gas) และการขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเลลึกเป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น การขุดหาเชื้อเพลิงเริ่มรุกรานดินแดนที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางทางระบบนิเวศน์สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ป่าอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ขั้วโลกเหนือ และการขุดเจาะน้ำมันที่เริ่มเข้าใกล้ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีประชากรค่อนข้างหนาแน่นและอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล … การเสพติดเชื้อเพลิงฟอสซิลของเราทำให้โลกร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็ปล่อยมลพิษคุกคามระบบนิเวศน์ และเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชุมชนชายขอบทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว
อย่าหวังพึ่งการเมืองระดับโลก
ต้นเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อการเจรจานานาชาติเรื่องโลกร้อนรอบใหม่เริ่มต้นขึ้นที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ประธานอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าวถึงสถานะความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในขณะนี้ว่าเป็น "ภาวะฉุกเฉิน" [8] อย่างไรก็ตาม ความหวังว่ากระบวนการของสหประชาชาติจะช่วยเปลี่ยนแปลงสภาวะที่กำลังดำเนินสู่หายนะนี้ดูเหมือนจะริบหรี่ การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 19 (COP19 UNFCCC) ที่จบลงเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ยังไม่ได้ให้ความหวังที่เป็นชิ้นเป็นอันในการแก้โลกร้อน การเจรจารอบดังกล่าวซึ่งควรจะวางรากฐานสำคัญในการสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นใหม่ภายใต้อนุสัญญาฯ ภายในปี 2558 ว่าประเทศต่างๆ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไรในอนาคต ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล ด้วยการปัดความรับผิดชอบในการก่อโลกร้อนและความรับผิดชอบในการหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของมนุษยชาติ ในขณะที่หลักการ “ความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง” (Common But Differentiated Responsibility: CBDR) ซึ่งตกลงร่วมกันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายความว่า ประเทศพัฒนาแล้วมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซฯเพื่อตอบสนองการพัฒนาของตัวเองในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือประเทศเหล่านั้นได้ใช้งบดุลย์คาร์บอนของโลกไปมากแล้วในอดีตจึงมีความรับผิดชอบที่จะต้องลดการปล่อยฯ ในปัจจุบันและอนาคด อย่างไรก็ตามประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะโลกร้อน ก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซฯ เนื่องจากบทบาทและความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาต่อการหยุดวิกฤตโลกร้อนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ เพราะจำนวนประชากรในประเทศเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสิทธิที่จะพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาตามมาด้วยความต้องการใช้ทรัพยากรและพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล กลายเป็นความท้าทายประการสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาในศตวรรษนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ (หรือเกือบทุกประเทศ) ยังคงดำเนินรูปแบบการพัฒนาและวิถีของสังคมที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยคาร์บอนเข้มข้น ทั้งที่ไม่ยั่งยืนสำหรับอนาคตโลก
ดังนั้นแล้ว การหยุดวิกฤตโลกร้อนอย่างทันท่วงทีจึงต้องการความจริงใจในการกำหนดเป้าหมายและดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องตอบคำถามสำคัญแห่งศตวรรษคือ “จะสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่มีความเท่าเทียม และให้ประโยชน์แก่ประชากรที่ยากจนและอยู่ชายขอบของการพัฒนาในรูปแบบเดิมๆ ที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างไร”
ตลาดคาร์บอน - การแก้โลกร้อนผิดจุดและไม่เป็นธรรม
ดูเหมือนผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอันเพียงอย่างเดียวที่เกิดจากการเจรจาของผูนำโลกซึ่งดำเนินมาต่อเนื่องกว่าสองทศวรรตนี้ คือการสร้างกลไกการซื้อขาย-แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (สิทธิในการปล่อยคาร์บอน) เพื่อช่วยให้ประเทศร่ำรวยและอุตสาหกรรมสกปรกสามารถบรรลุข้อบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ถูกกำหนด แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ อาการดิ่งเหวของราคาคาร์บอนในตลาดโลก และความล้มเหลวของระบบค้าคาร์บอนสหภาพยุโรป (EU-ETS: European Union Emissions Trading Scheme) ซึ่งเป็นตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ เป็นข้อบ่งชี้ว่ากลไกตลาดไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของวิกฤตโลกร้อน ที่น่าเศร้าก็คือคนจำนวนมากหลงผิดเชื่อว่าวิธีการที่ไม่ยั่งยืนนี้สมเหตุสมผลในระบบเศรษฐกิจอันบิดเบี้ยว บนฐานคิดที่ว่า "ตราบใดที่ยังมีคนมีเงินพอที่จะซื้อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน คาร์บอนเครดิต ชีวิต หรือธรรมชาติ เราก็ยังคงสามรถป้อนความต้องการบริโภคอันไร้ขีดจำกัดของเราได้อยู่" โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอย่างมากต่อชนรุ่นหลังและโลก แต่วิธีคิดเช่นนี้มีความบกพร่องต้งแต่ฐานราก
ความบกพร่องประการแรกคือ บางสิ่งเช่นชีวิตและธรรมชาติไม่สามารถตีราคาเพื่อนำมาค้าขายได้
หัวใจของวิธีคิดที่เป็นปัญหานี้คือระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และชี้นำโดยกลไกตลาดซึ่งมองทุกอย่างเป็นสิ่งของที่สามารถตีค่าทางการเงินเพื่อให้กรรมสิทธิแก่เอกชนและนำไปสู่การซื้อขายเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้ ถึงที่สุดแล้วระบบดังกล่าวให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่ได้เปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงราคาที่ผู้อื่นในสังคมต้องจ่ายร่วมกัน จึงกล่าวได้ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว
ตัวอย่างชัดเจนของปัญหาจากการนำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมาใช้ภายใต้โลกาภิวัตน์คือ ข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (FTA: Free Trade Agreement) ต่างๆ ซึ่งเอื้อให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า (เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองต้องการที่จะเปิดเจรจาเอฟทีเอกับประเทศไทย) สามารถกดดันรัฐบาลประเทศเล็กกว่าให้ยอมสละทรัพยากรธรรมชาติ และบริการทางสังคมพื้นฐานซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชน เช่น นํ้า แร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ องค์ความรู้ ระบบการศึกษา การดูแลสุขภาพและการเข้าถึงยา ฯลฯ ผ่านกลไกเช่นการเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสินค้า การให้สิทธิความเป็นเจ้าของแก่เอกชน การจดสิทธิบัตร และการควบคุมสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญา
ในกรณีเลวร้ายที่สุดเมื่อมีข้อพิพาทด้านการค้าการลงทุนภายใต้เอฟทีเอบางกรณี บรรษัทเอกชนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ด้วยกฎระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อตกลงการค้า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจไม่ขึ้นกับกฎหมายท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ก็ได้ [9] (ตัวอย่างกรณีพิพาทระหว่างบริษัท Bechtel และประเทศโบลิเวีย [10]) ผลที่ตามมาคือความไม่เป็นธรรม เพราะระบบดังกล่าวเปิดช่องให้บรรษัทข้ามชาติสามารถควบคุมทรัพยากรส่วนรวม โดยผู้เสียประโยน์คือประชาชนผู้ซึ่งพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เพียงเพราะเขาเหล่านั้นเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและมีความสามารถทางการแข่งขันตํ่ากว่าบรรษัทข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจโลก
ความบกพร่องประการที่สองคือ ธรรมชาติมีขีดจำกัดและเรากำลังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นจนหมดไป
ความต้องการบริโภคและความต้องการโตอย่างไม่หยุดยั้งของสังคมมนุษย์นั้นเป็นผลสืบเนื่องจากการอนุมานว่าเราสามารถถลุงใช้ธรรมชาติได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ในความเป็นจริง เราได้รับการเตือนแล้วว่าโลกมีข้อจำกัดทางกายภาพต่อการเติบโตและการบริโภคของมนุษย์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 เมื่อคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT ของสหรัฐอเมริกาออกมาเปิดเผยผลการศึกษาแบบจำลองอนาคตการพัฒนาของโลกด้วยรายงานการวิจัย "ขีดจำกัดของการพัฒนา" (Limits to Growth) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลกกว่า 12 ล้านฉบับ [11] บัดนี้เวลาผ่านมาแล้วกว่าสี่ทศวรรต วิกฤตหลายประการที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ วิกฤตน้ำ วิกฤตอาหาร และวิกฤตต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นข้อบ่งชี้ว่าเรากำลังถลุงใช้โลกจนเลยขีดจำกัด
ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีคิด - สังคมมนุษย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
เพื่อหาทางออกจากวิกฤตต่างๆที่โลกกำลังเผชิญ จำเป็นที่มนุษย์จะต้องยอมรับว่ารากฐานของปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นคือรูปแบบการพัฒนาปัจจุบัน ซึ่งดำรงค์อยู่ด้วยระบบการผลิต-บริโภค-และการจัดการของเสียอย่างไม่ยั่งยืน แม้เศรษฐกิจจะเติบโตแต่สุขภาพและวิถีชีวิตของเรากลับย่ำแย่ลง และแม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วการเปิดการค้าเสรีให้เกิดอิสระในการเคลื่อนย้ายทุนและวัตถุควรจะช่วยกระจายความร่ำรวยและความกินดีอยู่ดีไปสู่ภูมิภาคต่างๆ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นพาหะให้อุตสาหกรรมสกปรก มลพิษ อาหารขยะ ผลิตภัณฑ์อันตราย ฯลฯ กระจายไปทั่วโลก [12]
บัดนี้จึงถึงเวลาอย่างยิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับหนทางผิดพลาดที่ดำเนินมา และหาคำตอบว่ามวลมนุษยชาติจะรอดพ้นจากการเดินหน้าทำลายล้างโลกอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไร และขั้นตอนแรกที่เราควรทำคือต้องทบทวนความหมายที่เราให้กับ "การมีชีวิตอยู่" และ "ความเจริญก้าวหน้า" เสียใหม่
“Buen Vivir” (ภาษาสเปน อ่านออกเสียง เบวียน วิเวียร์) แปลอย่างตรงตัวว่า "การใช้ชีวิตที่ดี" เป็นวิธีคิดใหม่ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานว่า "ในการจะมีและใช้ชีวิตที่ดีนั้น มนุษย์จะต้องอยู่อย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและกับสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ" ไม่น่าแปลกใจว่าแนวคิดดังกล่าวพัฒนามาจากคำว่า "Sumak Sawsay” ซึ่งเป็นคำที่ใช้หมายถึงการอยู่ดีมีสุขภายใต้ฐานคิดที่ว่านี้ของชนพื้นเมืองเผ่าเคชัว (Quechua) ที่อยู่ทางตอนกลางของเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองเหล่านี้พึ่งพาสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่อย่างกลมกลืนมาก
ภายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นักสิ่งแวดล้อมละตินอเมริกันเริ่มนำเสนอและส่งเสริมวิธีคิดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศโบลิเวียและเอกวาดอร์ซึ่งเป็นสองประเทศที่ยอมรับแนวคิด "สิทธิของธรรมชาติ" จนถึงขั้นระบุสิทธิดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญของตน [13] นับแต่นั้นมา Buen Vivir ก็เป็นที่สนใจระดับนานาชาติมากขึ้น ด้วยเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะแก่นแท้ของมันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนพื้นเมือง สำหรับประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวัฒนธรรมของชนเผ่า ปากญอ ซึ่งมีรากฐานจากความเชื่อว่า "วิถีธรรมชาติคือวิถีชีวิต" ดังนั้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขาคือเกษตรกรรมอย่างพออยู่พอกินและยั่งยืน โดยมีประเพณีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องดูแลป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วย
การนำเสนอแนวคิดนี้มิใช่เพื่อจะบอกว่าเราต้องย้อนกลับไปอยู่ในยุคหินหรือละทิ้งการบริโภคทุกอย่างแล้วย้ายไปอาศัยอยู่ในป่า แต่เห็นกันอยู่ว่าหายนะกำลังเกิดกับอนาคตของโลกอย่างแน่นอนเพราะการที่มนุษย์เพิกเฉยไม่ยอมจัดการกับปัญหาอย่างจริงจังมานานเกินไปแล้ว หากจะทวนกระแสปัจจุบันอย่างทันท่วงที โลกต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากซึ่งต้องเริ่มจากวิธีคิดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีคิดในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเราไม่สามารถเพิกเฉยต่อราคาแท้จริงที่คนอื่นๆ กำลังจ่ายเพื่อให้เราได้อยู่อย่างสะดวกสบายได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถหวังพึ่งกลไกตลาดว่าจะค่อยๆ นำความเปลี่ยนแปลงมาให้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเพียงเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะหยุดหายนะอีกต่อไป ที่สำคัญที่สุด ชีวิตและธรรมชาติไม่สามารถนำมาตีราคาได้ เมื่อใดก็ตามที่เรายอมให้ธรรมชาติถูกทำให้กลายเป็นสินค้าและให้กรรมสิทธิกับเอกชนตามกลไกตลาด เมื่อนั้นการแบ่งปันกับผู้อื่นและการดูแลรักษาธรรมชาติก็จะหมดไป เพราะเป้าหมายสูงสุดของระบบเศรษฐกิจดังว่านี้คือการมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดจากทรัพย์สินที่มีอยู่
ณ ตอนนี้ ถึงเวลาที่มนุษย์ชาติต้องเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (paradigm) ในการพัฒนาอย่างถึงแก่น เพื่อนำไปสู่การออกแบบวิถีชีวิตของเราให้สอดคล้องกับข้อจำกัดที่แท้จริงของโลก และในแง่นี้เอง เราจึงควรหันมาทบทวนความหมายของ "การใช้ชีวิตที่ดี" ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลกคนอื่นๆ
------------------------
อ้างอิง:
[1] The Keeling Curve. http://keelingcurve.ucsd.edu/
[2] BBC 2013. Concentrations of warming gases break record. http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-24833148
[3] Climate change: how a warming world is a threat to our food supplies. http://www.guardian.co.uk/environment/2013/apr/13/climate-change-threat-food-supplies
[4] IPCC, 2013. Climate Change 2013: The Physical Science Basis. http://www.ipcc.ch/report/ar5/wg1/#.UpKnYmQW0l8
[5] The Guardian. 11 November 2013. IPCC corrects carbon figures in landmark UN climate report http://www.theguardian.com/environment/2013/nov/11/ipcc-corrects-carbon-figures-climate-report
[6] Meinshausen M. et al. 2009. Greenhouse-gas emission targets for limiting global warming to 2 °C. Nature 458, 1158-1162 (30 April 2009). http://www.nature.com/nature/journal/v458/n7242/full/nature08017.html
[7] Duran R. F. 2012. The breakdown of Global Capitalism: 2000-2030. Ecologistas en Accion. http://corporateeurope.org/sites/default/files/attachments/breakdown_capitalism_final.pdf
[8] UN climate chief warns of "urgency" as CO2 levels rise. http://www.channelnewsasia.com/news/world/un-climate-chief-warns-of-urge...
[9] Solon P. 2013. Public forum on Buen Vivir at a gathering of FTA Watch networks in front of the Parliament in Bangkok, 28 February 2013.
[10] Bolivia Investigations: The Water Revolt. The Democracy Center. http://democracyctr.org/bolivia/investigations/bolivia-investigations-the-water-revolt/
[11] 40 Years “Limits to Growth”. The Club of Rome. http://www.clubofrome.org/?p=326
[12] Narintarakul Na Ayuthaya K. 2013. Public forum on Buen Vivir at a gathering of FTA Watch networks in front of the Parliament in Bangkok, 28 February 2013.
[13] Fatheuer T. 2011. Buen Vivir - A brief introduction to Latin America’s new concepts for the good life and the rights of nature. Heinrich Boll Foundation. http://www.boell.de/downloads/Buen_Vivir_engl.pdf