งานเสวนายามบ่าย "เศรษฐกิจสีเขียว: ทำความเข้าใจ ไปให้ไกลกว่ากระเเส"
GREEN ECONOMY: LET'S GO BEYOND THE MAINSTREAM
ณ ศาลาปันมี บ้านอารีย์ ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน
เสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2555 เวลา 14.00-17.00 น.
ผู้นำการเสวนา
- พาโบล โซลอน (Pablo Solon) ผู้อำนวยการบริหาร Focus on the Global South (อดีตหัวหน้าคณะเจรจาเรื่องโลกร้อนและเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศโบลิเวีย)
- สฤณี อาชวานันทกุล อดีตนักการเงินการธนาคาร นักเขียน นักวิชาการอิสระ เจ้าของบล๊อก “คนชายขอบ”
- นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Siamensis.org) และผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาล และอื่นๆ
- สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ร่วมผลักดันแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทางเลือก และผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ต
ความเป็นมา
รูปแบบความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม หากยังเดินกันต่อไปบนเส้นทางเดิม โลกอีกห้าใบก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เผาผลาญความอุดมสมบูรณ์ในอัตราที่เร็วกว่าที่โลกจะทนได้ ปัญหานี้ใช่ว่าจะไม่เป็นที่รับรู้ ระดับนานาชาติเองก็ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหา เช่นการเจรจาเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของโลกร้อน และล่าสุดได้เกิดกระแสผลักดันให้มีการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งรวมไปถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมที่คำนึงถึงขีดจำกัดทางธรรมชาติของโลกใบนี้ ระบบเศรษฐกิจหรือความสัมพันธ์ใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” หรือ “Green Economy”
อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจที่มีต่อสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” มีความหลากหลายและต่างกันออกในแต่ละมุมโลกและภาคส่วนของสังคม จนนำไปสู่วิวาทะที่เผ็ดร้อน โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าการตีมูลค่าทางการเงินให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดระบบซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (ทางสิ่งแวดล้อม) ของการดำเนินธุรกิจ ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าการปิดป้ายราคาให้ทรัพยากรและแปรทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า จะนำไปสู่การค้าขายเก็งกำไรสินค้าใหม่นั้นๆ ซึ่งนอกจากจะเบียดขับผู้คนชายขอบแล้ว ยังไร้ประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะยังวางอยู่บนรากฐานของระบบเศษรฐกิจทุนนิยมเสรีในปัจจบัน ซึ่งมีความผันผวนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประชากรโลกส่วนใหญ่รวมถึงประชาชนไทยยังมึนงง หรือไม่เคยแม้แต่จะได้ยินคำคำนี้มาก่อน “เศรษฐกิจสีเขียว” กำลังแปรรูปจากวาทกรรมการพัฒนาไปสู่การจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับ
ความน่าสนใจ ณ เวลานี้จึงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” คืออะไรกันแน่ เกี่ยวกับเราอย่างไรและประเทศไทยพร้อมรับสิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน ธุรกิจและประชาชนจะได้ประโยชน์บนเงื่อนไขใด หรือควรมีข้อพึงระวังอย่างไร และที่สำคัญจะร่วมกันนิยามและสร้าง “เศรฐษกิจสีเขียว” ที่เราอยากเห็นได้อย่างไร
องค์กรร่วมจัด
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice Working Group)
มูลนิธิโลกสีเขียว (Green World Foundation)
คลิกเพื่อชมบันทึกการถ่ายทอดสดผ่าน Hangout (ตลอดการเสวนา 3 ชั่วโมง)
คลิกเพื่อชมบันทึกไฮไลท์จากการเสวนา (แบ่งเป็น 4 ตอน)