30 สิงหาคม 2555 หน้าอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
เครือข่ายภาคประชาชนได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ไปยังสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งกำลังมีการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเรียกร้องให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรม ในโอกาสที่ผู้แทนรัฐบาลนานาชาติมาประชุมกัน ณ อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม- 5 กันยายน 2555 เพื่อจัดทำร่างขอบเขตและข้อตกลงในประเด็นสำคัญต่างๆ สำหรับการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 18 หรือ COP18 ที่เมืองโดฮาร์ ประเทศการ์ตา ปลายปี 2555
คลิกเพื่อชมวีดีโอประมวลภาพกิจกรรมรณรงค์ และการอ่านแถลงการณ์ของภาคประชาชน
STATEMENT / แถลงการณ์
ข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาชนเพื่อเร่งแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรม
30 สิงหาคม 2555 หน้าอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ: เครือข่ายภาคประชาชนรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อทวงถามความเป็นธรรมและความรับผิดชอบของรัฐบาลและนานาชาติในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน จี้รัฐบาลและกลุ่มธุริจการเมืองทุกชาติเลิกเล่นเกมและต่อรองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มท่ามกลางหายนะที่กำลังก่อตัวขึ้นทั่วทุกมุมโลกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในโอกาสที่ผู้แทนรัฐบาลนานาชาติมาประชุมกัน ณ อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน พ.ศ. 2555 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 18 หรือ COP18 ที่เมืองโดฮาร์ ประเทศการ์ตา ในปลายปีนี้
เครือข่ายภาคประชาชนไทย 32 องค์กรและเครือข่ายที่รวมตัวกันในวันนี้ ขอทวงถามถึงข้อเรียกร้องที่เคยยื่นให้รัฐบาลนานาชาติและรัฐบาลไทย ดังนี้
1. ให้ทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลไทย แสดงเจตจำนงผูกพันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยยึดหลักความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง ซึ่งหมายถึงประเทศอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020
2. ให้มีการพัฒนานโยบาย กลไกทางกฎหมายและระบบภาษีในประเทศที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นธรรม โดยให้ผู้ก่อปัญหาเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องไม่ถ่ายโอนความรับผิดชอบผ่านกลไกตลาดและนโยบายที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป
3. ชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาเองก็ต้องไม่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ โดยกล่าวอ้างว่ายังต้องปล่อยก๊าซเพื่อแก้ปัญหาความยากจน หากผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ยังตกอยู่กับกลุ่มทุน มิใช่คนยากจนที่แบกรับภาระจากปัญหาโลกร้อน
4. ให้สหประชาชาติหาทางออกและวางแนวทางการให้ความเป็นธรรมและปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชาวบ้านในพื้นที่ป่า
5. ให้รัฐบาลไทยแก้ไขและปรับทิศทางและนโยบายต่อไปนี้โดยเร่งด่วน ได้แก่
5.1 หยุดการพัฒนากลไกตลาด และการชดเชย เครดิตคาร์บอน
5.2 ปฏิรูปให้มีการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างเท่าเทียมในสังคม และส่งเสริมการวางแผนและกระจายการผลิตไฟฟ้าระดับชุมชน
5.3 รื้อแผน แผนพัฒนาพลังงาน (PDP) และจัดทำกระบวนการให้มีความโปร่งใส โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการพลังงานพร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (พลังงานสะอาด) ให้ได้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกฯ และดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้ได้ตามแผนอนุรักษ์พลังงานฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ขยายโรงไฟฟ้าจากก๊าซ หยุดการใช้พลังงานจากถ่านหิน และ ยกเลิกแผนพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและไม่ยั่งยืน
5.4 ควบคุมและยกเลิกการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ซึ่งก่อมลพิษสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็กต้นน้ำ ถ่านหิน เป็นต้น และหยุดขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
5.5 หยุดโครงการพัฒนาใดๆ ที่จะทำลายฐานทรัพยากรทางอาหาร ซึ่งเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
5.6 ยกเลิกการสร้างเขื่อนทั้งในประเทศไทย และแม่น้ำโขง เพราะนอกจากทำลายป่าและระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ของภูมิภาคแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ ต้องให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาชนในเขตลุ่มน้ำทั่วภูมิภาค มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐในทุกขั้นตอน
5.7 รัฐจะต้องยอมรับสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในการอาศัยและจัดการทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างเร่งด่วนที่สุด
5.8 รัฐไทยต้องยุติการไล่รื้อ ฟันทำลายพืชผล จับกุมดำเนินคดีกับเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม และยุติการใช้แบบจำลองโลกร้อนของกรมอุทยานฯ ซึ่งบิดเบือนหลักวิชาการ มาเรียกค่าเสียหายกับเกษตรกรโดยอ้างโลกร้อน
5.9 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เช่น โดยจัดตั้งธนาคารที่ดิน และจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า รวมทั้งยอมรับและสนับสนุนแนวทางการจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน ตามสิทธิชุมชน ในมาตรา 66 และ 67 ตามรัฐธรรมนูญ
5.10 วางแนวทางให้ชุมชนบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ด้วยชุมชนเอง ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงป่าไม้
5.11 สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งดีต่อระบบนิเวศน์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งเป็นการปรับตัวต่อโลกร้อนที่ดีสำหรับภาคเกษตร
ชมอัลบั้มภาพกิจกรรมทั้งหมดในเฟสบุค