"คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม"
"Thai Climate Justice Working Group" (TCJ)
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม เป็นการรวมตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 ด้วยเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายหลักในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจให้กับสาธารณะ รวมทั้งติดตามและนำเสนอนโยบายในระดับประเทศและในการเจรจาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับแก้ไขและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยให้คำนึงถึงความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (climate justice) สิ่งแวดล้อม และสังคมเป็นสำคัญ
ปัจจุบัน คณะทำงานฯ ประกอบด้วยสมาชิกหลักซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ มูลนิธิชีววิถี - โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) - มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ - มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน - กลุ่มจับตาพลังงาน ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านในหลายภาคส่วน เช่น เครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาภาคพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร ประมง ป่าไม้ ปฏิรูปที่ดิน และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สะท้อนปัญหา และร่วมกันขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและการรองรับปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรมในสังคมไทย และในการขับเคลื่อนระดับระหว่างประเทศ คณะทำงานฯ ยังได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายความยุติธรรม ทางสภาพภูมิอากาศเดี๋ยวนี้” หรือ Climate Justice Now (CJN) ในการติดตามการเจรจาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม
งานของคณะทำงานที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม ได้จัดกิจกรรมหลายอย่างที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการบรรลุเป้าหมายข้างต้น กิจกรรมที่สำคัญในปี 2552 คือ รวบรวมข้อเสนอภาคประชาสังคม ผ่านเวทีต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดเวทีภาคประชาชนเมื่อวันที่ 3-4 ตุลาคม 2552 เนื่องในโอกาสที่มีการจัดประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติที่กรุงเทพมหานคร (Bangkok Climate Change Conference - September 2009) หรือที่เรียกกันว่า Bangkok Climate Talks อันนำไปสู่ “ข้อเสนอภาคประชาสังคมไทย สู่การประชุมที่โคเปนเฮเกน” และยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อประกอบการเจรจาของรัฐบาลไทยในเวทีการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 (COP15) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ทั้งนี้ คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ยังเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ส.ผ.) และ สำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team in Thailand) จัดเวทีเสวนาทั้งก่อนและหลังการประชุม COP15 เพื่อแลกเปลี่ยน และระดมความเห็นร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชาสังคมไทยด้วย
ในขณะเดียวกัน สำหรับในปี พ.ศ. 2553 ร่าง “แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2562” ซึ่งประสานงานจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นจุดสำคัญของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคประชาสังคมไทย เพราะกระบวนการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาสังคม และเมื่อพิจารณาในแง่เนื้อหาซึ่งบรรจุโครงการที่เกี่ยวพันกับหน่วยงานราชการและงบประมาณที่จะผูกพันถึง 10 ปีในอนาคต พบว่าจะนำไปสู่การแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นธรรม คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมและเครือข่ายภาคประชาชน จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเรียกร้องให้เกิดกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ใหม่ ซึ่งต้องให้มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งรวบรวมบทวิพากษ์เบื้องต้นของภาคประชาชนต่อเนื้อหาของร่างแผนแม่บทฯ
นอกจากนั้น ในปี 2553 คณะทำงานยังได้ประสานการจัดมหกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น ภายใต้ชื่อว่า “โลกร้อน ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” ณ สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 ถึง 30 พฤศจิกายน โดยได้มีเครือข่ายประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก และในวันที่ 1 ธันวาคม ทั้งหมดได้ร่วมกันเดินรณรงค์ไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีคำสั่งยกเลิกแผนแม่บทฯ ฉบับเดิมเพื่อนำไปสู่การร่างแผนใหม่ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งดังกล่าวในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2554
ในปี พ.ศ. 2554 คณะทำงานได้ร่วมกับ ส.ผ. ออกแบบและเข้าร่วมกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อยกร่างแผนแม่บทฯ ขึ้นใหม่ โดยได้มีการจัดทั้งหมดหกเวทีในทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนั้นทางคณะทำงานฯยังได้จัดงานสัมมนาประจำปีระดับชาติขึ้นในวันที่ 20 ถึง 21กันยายน ภายใต้หัวข้อ ว่า “คิดใหญ่ มองไกล – สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร โดยมีเนื้อหาครอบคลุมสี่ประเด็นหลักดังนี้ (1) การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมสู่สังคมคาร์บอนตํ่า (2) การปฏิรูปภาคพลังงานภายใต้บริบทโลกร้อน (3) ศักยภาพและข้อจำกัดของตลาดคาร์บอนกับการลดโลกร้อน (4) การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความมั่นคงทางอาหารที่เป็นธรรม
ในปี พ.ศ. 2555 คณะทำงานยังติดตามกระบวนการจัดทำร่างแผนแม่บทฯอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งเข้าคณะกรรมการชาติเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตามจนถึงสิ้นปี แผนแม่บทฯ ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และจะต้องรอกันต่อไปถึงปี 2556 นอกจากนั้นคณะทำงานได้จัดประชุมระหว่างกลุ่มต่างๆ ในเครือข่ายพร้อมระบุประเด็นการประสานงานและขับเคลื่อนต่อไป โดยการประชุมนี้ได้จัดขึ้นพร้อมกับการจัดสัมมนาโลกเย็นที่เป็นธรรมระดับชาติเมื่อวันที่ 29 ถึง 30 สิงหาคม ณ โรงแรมตรัง กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นร้อน ในโลกร้อน 2012” ซึ่งครอบคลุมประเด็นหลักดังต่อไปนี้ (1) การเมืองเรื่องโลกร้อนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากลและประเทศไทย (2) วิเคราะห์วิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตอาหาร และการพัฒนาภายใต้กรอบ AEC (3) โลกร้อนกับน้ำท่วม – ศักยภาพการปรับตัวระดับชุมชน (4) ทิศทางนโยบายพลังงานและป่าไม้ ภายใต้วิกฤตโลกร้อน และในบ่ายวันที่ 30 ได้มีการจัด "เดินรณรงค์ไปยังสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพมหานครฯ" ซึ่งกำลังมีการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเรียกร้องให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรม
ติดต่อเรา
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice Working Group)
c/o โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
สถาบันวิจัยสังคม ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์-ประจวบเหมาะ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตพญาไท
กรุงเทพมหานคร 10330